วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554







สวัสดี สวัสดี  แล้วก็สวัสดีค่ะ ขอสวัสดีผู้อ่านทุกท่านที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมนิตยสารของเรา อาจจะผิดธรรมเนียมของบทบรรณาธิการไปสักหน่อยที่เพิ่งจะโผล่มาตอนนี้ ปล่อยให้คนอ่านสงสัยอยู่ว่านิตยสาร “สาระ-ทุกข์-สุข-ดิบ” เป็นใครกันแน่




ตอนนี้ได้เวลาเฉลยแล้วค่ะว่าเราเป็นใครกัน... 

นิตยสาร”สาระทุกข์-สุข-ดิบ” ถือกำเนิดขึ้นมาจากกลุ่มคนทำงานในองค์กรเล็กๆ ที่ชื่อว่า “มูลนิธินโยบายสุขภาวะ” หรือ “มนส.“  พวกเราทำงานวิชาการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ในประเด็นต่างๆ อาทิ นโยบายพลังงาน พลังงานทางเลือกในชุมชนอุตสาหกรรม เกษตรกรรมยั่งยืน การปรับตัวเพื่อรับมือกับโลกร้อน รวมถึงการพัฒนาดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าที่แท้จริง 

ด้วยความที่เราทำงานวิชาการหลากหลายประเด็นและหลากหลายรูปแบบ ทำให้มีโอกาสประสบพบเจอเรื่องราวต่างๆ มากมายในระหว่างการทำงาน ทั้งเรื่องทุกข์ สุข เศร้า เคล้าสาระความเป็นมาเป็นไปของโลกใบนี้  พวกเราจึงอยากจะใช้พื้นที่บนโลกออนไลน์แห่งนี้แบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ให้กับคนอื่นๆ ในสังคมบ้าง

นี่แหล่ะค่ะ คือที่มาที่ไปของนิตยสารออนไลน์ที่ท่านกำลังเปิดอ่านอยู่ และเราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องเล่าจากกลุ่มคนเล็กๆ จะมีส่วนช่วยสร้างสรรค์การเรียนรู้ร่วมกันในสังคมไม่มากก็น้อย หากผู้อ่านท่านใดมีเรื่องเล่าดีๆ ก็อย่าลืมมาแบ่งปันกันบ้างนะคะ เพราะเราเชื่อว่าการแบ่งปันคือจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างสังคมที่ดีกว่าร่วมกัน
"โฉมหน้าทีมงานสาระ-ทุกข์-สุข-ดิบ"
ติดตามผลงานวิชาการของพวกเราเพิ่มเติมได้ที่เวบไซด์ www.npithailand.com และ www.energygreenhealth.com  นอกจากนี้ ท่านยังสามารถเข้าไปทักทายและร่วมติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook ของนิตยสารสารสาระ-ทุกข์-สุข-ดิบ แล้วอย่าลืมแวะไปเยียมเยียนพวกเราบ้างนะคะ ฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่ะ

Jthunyaporn_s@yahoo.com





วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

พ่อเอี่ยมแห่งบ้านดงยาง: นักประดิษฐ์นวัตกรรมสู้โลกร้อน





"พ่อเอี่ยม" แห่งบ้านดงยาง
ท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงขึ้นทุกขณะ และภัยพิบัติที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ทั่วทุกมุมโลกกำลังพยายามหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ หลายฝ่ายเฝ้ารอการประชุมข้อตกลงวางแผนในระดับนโยบายร่วมกันทั่วโลก ในขณะที่สถานการณ์ต่างๆที่เป็นผลจากโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนทุกคนแล้ว
โดยเฉพาะ ภาคการเกษตรที่ต้องพึ่งพาอาศัยฝนฟ้าอากาศจากธรรมชาติในการเพาะปลูกพืชพันธุ์ อย่างที่เราได้เห็นจากข่าวสารที่นำเสนอในแต่ละวัน  ไม่ว่าจะเป็น ความแห้งแล้งในฤดูร้อน  น้ำท่วมในฤดูฝน  แมลงศัตรูพืชระบาด หรือ สภาพอากาศที่คาดเดาได้ยากไม่เป็นไปตามฤดูกาล สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ผลิตผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย แล้วผู้ที่แบกรับความเสี่ยงเหล่านี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากเกษตรกรเอง
ในขณะที่หลายๆคนยังรอคอยการแก้ไขในระดับนโยบายจากหน่วยงานภาครัฐ ยังมีเกษตรกรกลุ่มหนึ่งใน จ.ยโสธร ได้ร่วมมือกันลุกขึ้นมาต่อสู้และวางแผนรับมือกับสถานการณ์โลกร้อน และจากการร่วมกลุ่มกันครั้งนี้เอง ทำให้เกิดนักสู้กับการปรับตัวโลกร้อนขึ้นหลายต่อหลายคน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ พ่อเอี่ยม สมเพ็ง ผู้ที่ชอบเรียนรู้ ทดลองและประดิษฐ์สิ่งแปลกๆใหม่ๆ ที่นำมาใช้ในการรับมือกับโลกร้อน แห่งบ้านดงยาง ต.บากเรือ อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร

เกษตรอินทรีย์ผสมผสาน การปรับตัวของเกษตรกรในวันที่โลกร้อน
พ่อเอี่ยมเป็นชาวนามากว่า 30 ปีปลูกข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวบนที่นาประมาณ 20 ไร่แต่เดิมทำนาใช้สารเคมีเป็นหนี้เป็นสินบางปีฝนตกน้อย นาข้าวหว่านไปแล้วไม่ขึ้น บางปีน้ำท่วมหนัก ยังไม่ทันเกี่ยวข้าวก็จมน้ำ เป็นอย่างนี้สลับกันไปมาทุกปีโดยเฉพาะช่วงปีพ.ศ. 2549-50 ที่ฝนแล้งมาก อีกทั้งสุขภาพก็เสื่อมลงจากการใช้สารเคมี จนทำให้พ่อเอี่ยมคิดที่จะเลิกทำนา แต่เมื่อลองย้อนกลับไปทบทวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ทำให้พ่อเอี่ยมไม่รอช้า ลุกขึ้นมาปฏิวัติรูปแบบการทำนาใหม่
โดยสิ่งแรกที่ปฏิวัติคือการหันหลังให้กับสารเคมี และเปลี่ยนมาทำนาแบบเกษตรอินทรีย์แทน หลังจากได้เห็นพื้นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ และเสื่อมโทรมลง จนผลผลิตที่เคยเก็บเกี่ยวได้ลดลงไปมาก จากนั้นพ่อเอี่ยมก็เริ่มวางแผนทำนา โดยเอาประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งคอยบันทึกข้อมูลเรื่องฝนตกในแต่ละปี แต่ละวัน และวันละกี่ชั่วโมง ตลอด 10 ปีมาร่วมในการวางแผนทำนา เพราะใน จ.ยโสธร ยังมีระบบชลประทานน้อย ต้องรอฝนจากฟ้าเพียงอย่างเดียว เมื่อนำเอาข้อมูลเรื่องฝนตกมาวางแผนในการทำนา ทำให้คาดเดาได้ว่าฝนน่าจะเริ่มตกเมื่อไร แล้วต้องเริ่มหว่านกล้ารอฝนเมื่อใด
นาอินทรีย์ของพ่อเอี่ยม

           

ผักสวนครัวแหล่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร

นอกจากระบบเกษตรอินทรีย์ที่เป็นจุดเริ่มแล้วการปลูกพืชให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ผักสวนครัวผลไม้ และต้นไม้พื้นถิ่น ยังสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับพ่อเอี่ยมอีกด้วย เพราะถ้าปลูกข้าวไม่ได้ ก็ยังมีผัก ผลไม้ไว้ทานได้ ซึ่งนอกจากความอยู่รอดแล้ว การปลูกผัก ผลไม้เอง ก็ยังสร้างมั่นใจในการรับประทานอาหาร เพราะ มั่นใจได้ว่าไม่มีสารเคมีปนมาด้วย
แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ฤดูกาลค่อยๆเลื่อนออกไป จนคาดเดาได้ยากขึ้น และบ่อยครั้งที่พอฝนตกก็ตกไม่มาก หรือบางทีก็ตกหนักจนน้ำเยอะไป หากยังคงทำตามแผนเดิมจากข้อมูลที่เคยเก็บไว้ในอดีตคงไม่ได้แน่ แต่อย่างไรก็ตามพ่อเอี่ยมก็ตั้งใจว่า เราต้องปรับตัวเองให้อยู่ได้กับภาวะอากาศที่เปลี่ยนไป
สิ่งสำคัญของการเพาะปลูกคือระบบน้ำในไร่นา ซึ่งพ่อเอี่ยมได้ทำการขุดสระน้ำ 1 ไร่ และบ่อใต้ดิน กระจายในแปลงนา รวมประมาณ 8 แห่ง ซึ่งสระที่ขุดไว้นอกจากจะกักเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนไม่ให้ท่วมแปลงนา แล้วในช่วงหน้าแล้งยังได้นำน้ำออกมาใช้ ทำให้พ่อเอี่ยมสามารถจัดการน้ำในแปลงให้พอเพียงกับการเพาะปลูกตลอดทั้งปี แต่ในการสูบน้ำขึ้นมาใช้จากสระและบ่อใต้ดิน ก็เพิ่มต้นทุนให้กับพ่อเอี่ยมซึ่งต้องใช้น้ำมันในการสูบน้ำ และนี้ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่สร้างความท้าทายให้กับพ่อเอี่ยมในการคิดค้นวิธีการสูบน้ำ โดยไม่ต้องใช้น้ำมัน
จากการจัดการน้ำในแปลงเกษตร สู่นักประดิษฐ์พลังงานทำมือ

              หลังจากค้นคว้าหาวิธีการสูบน้ำแบบต่างๆ พ่อเอี่ยมก็มาคิดถึงทรัพยากรที่อยู่ใกล้ตัวเรา และไม่ต้องเสียเงิน เป็นของจากธรรมชาติ นั่นก็คือ ลม ซึ่งตั้งแต่โบราณก็มีการใช้ลมในการสูบน้ำอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นการทำนาเกลือ หรือการสูบน้ำในการเกษตร
              แต่โจทย์ต่อมาที่พบก็คือ ในพื้นที่มีลมอ่อนถึงปานกลาง แล้วลมอ่อนๆจะมีแรงพอที่จะสูบน้ำขึ้นมาได้หรือไม่ ซึ่งพ่อเอี่ยมได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆที่สนใจการทำกังหันลม ลองประดิษฐ์กังหันลมแบบต่างๆ โดยที่แต่ละคนจะมีแนวคิด และรูปแบบของกังหันลมที่แตกต่างกันไป เมื่อใครลองทำอะไร ก็จะนำมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและช่วยกันพัฒนาให้ดีขึ้น



กังหันลมสูบน้ำผู้ช่วยในการรับมือสภาวะอากาศแปรปรวน
             สำหรับพ่อเอี่ยมได้ลองทำกังหันลมแนวแกนนอน โดยใบพัดทำมาจากเศษวัสดุที่หาได้ง่าย ตั้งแต่ผ้า แผ่นโฆษณาหาเสียง จนแผ่นอลูมิเนียม ส่วนเพลาที่ใช้หมุนเพื่อนำไปสูบน้ำก็ดัดแปลงมาจากเครื่องเจียรบ้าง จักรยานบ้าง ซึ่งในการทดลองแต่ละครั้ง จากร้อยพันครั้ง พ่อเอี่ยมได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวสิ่งต่างๆเพิ่มเติม ไม่ว่าการทดลองนั้นจะสำเร็จหรือล้มเหลว และในที่สุดพ่อเอี่ยมก็สามารถพัฒนากังหันลมที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ของพ่อเอี่ยม และสามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้งานได้ในแปลงนาเป็นผลสำเร็จ 

นอกจากกังหันลมแล้ว พ่อเอี่ยมและเพื่อนๆในกลุ่มได้ร่วมเรียนรู้ถึงเรื่องของพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเราสามารถนำเอาสิ่งที่อยู่ใกล้ๆตัวมาแปลงเป็นพลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างเรื่องง่ายๆ เช่น ก๊าซหุงต้ม ที่พ่อเอี่ยมจึงได้ลองทำบ่อก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์และเศษอาหารในครัวเรือน โดยใช้บ่อหมักก๊าซรูปโอ่ง ขนาดประมาณ 2,200ลูกบาศก์เมตร ซึ่งการหันมาทำก๊าซชีวภาพใช้ ทำให้พ่อเอี่ยมลดการใช้ก๊าซถังหุงต้ม นอกจากนี้ยังช่วยกำจัดเศษอาหารที่เหลือ และกากที่ออกมาจากบ่อหมักก็ยังนำไปใช้เป็นปุ๋ยได้อีกด้วย
แม้การทำก๊าซชีวภาพใช้เองจะประสบความสำเร็จแล้ว แต่พ่อเอี่ยมก็ยังไม่หยุดคิดค้นและพัฒนาก๊าซชีวภาพ ซึ่งก๊าซชีวภาพที่ได้นั้นเมื่อนำจุดไฟ เปลวไฟจะค่อนข้างอ่อน เนื่องจากบ่อหมักก๊าซและห้องครัวอยู่ห่างกันประมาณ5เมตร ทำให้แรงดันก๊าซน้อย พ่อเอี่ยมจึงนำเอาหลักการของแอร์แวร์ ที่มีใช้ในการส่งน้ำให้ได้ไกลขึ้น มาประยุกต์ใช้ ทำให้เมื่อจุดไฟ เปลวไฟจึงแรงขึ้นตามความต้องการของแม่บ้าน

เตาก๊าซชีวภาพเสริมด้วยระบบแอร์แวร์เพื่อเพิ่มความแรงของเปลวไฟ
งานอดิเรก กับเศษฟางเงินล้าน
               นอกจากพ่อเอี่ยมจะเป็นนักประดิษฐ์แล้ว ยังมีความเป็นศิลปินในตัวด้วย เมื่อเสร็จจากงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำนา ทำสวน ดูแลสัตว์ และทดลองกังหันลมแล้ว ในเวลาค่ำคืนอันเงียบสงบ พ่อเอี่ยมจะเริ่มลงมือทำงานศิลปะ จากฟางข้าว ซึ่งมีทั้งความละเอียด ประณีตและความสวยงาม
             ซึ่งแต่ละรูปพ่อเอี่ยมใช้ฟางไม่ถึงหนึ่งกำมือ และบรรจงค่อยๆตัด ค่อยๆวางเศษฟาง ค่อยๆทากาว ลงบนแผ่นไม้ โดยมีการเน้นแสงและเงา มิติของภาพ ตลอดจนความกลมกลืนเสมือนจริง ทำให้มีคนสนใจและขอซื้องานศิลปะของพ่อเอี่ยม โดยรูปๆหนึ่ง จากเศษฟางไม่ถึงกำ สามารถทำเงินให้พ่อเอี่ยมได้เป็นหลักพัน แม้เป็นแค่เพียงงานอดิเรกก็สามารถสร้างรายได้ให้กับพ่อเอี่ยมได้เช่นกัน
            จากสถานการณ์โลกร้อนในปัจจุบัน การตั้งรับรอคอยทิศทางนโยบายจากฝ่ายวางแผนเพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถทำให้เรารับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างทันท่วงที หากแต่เราผู้ซึ่งรู้จักทรัพยากรและท้องถิ่นของเราเองดีกว่าฝ่ายวางแผนใด เริ่มวางแผนเพื่อรับมือโดยอาศัยความรู้ ประสบการณ์ที่มี และความพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนา โดยไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว หากแต่ผลักดันให้เป็นบทเรียนและความพยายามที่จะข้ามฝ่าอุปสรรคต่างๆ อย่างพ่อเอี่ยม เราก็จะสามารถปรับตัวและรับมือกับโลกร้อนได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
ศิลปะจากเศษฟางผลงานพ่อเอี่ยม
         
         



วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

คิดเล่นๆ(อาจ)เป็นจริงได้






เคยลองคิดเล่นๆ กันหรือเปล่าคะ...

วันนี้มีตัวอย่างการคิดเล่นๆ ที่น่าสนับสนุนให้เกิดการทำแบบจริงๆจังๆ ซะเหลือเกิน และคงต้องขอยกความดีความชอบให้นิตยสาร a day ที่ทำคอลัมน์ “ขอเปลี่ยน” เพื่อเปิดพื้นทีให้ผู้อ่านส่งไอเดียเจ๋งๆ คิดแบบทีเล่นทีจริง เปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างที่รู้สึกว่าไม่เข้าที อยากให้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือออกแบบใหม่ ไอเดียแบบทีเล่นทีจริงก็อาจจะเกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ผู้คนและสังคมได้



ใน a day  ฉบับล่าสุดเดือนส.ค. 54 มีผู้อ่านท่านหนึ่งเสนอให้มีการสะสมระยะทางสำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบขนส่งมวลชน หรือ Mileage Bus แบบที่ผู้โดยสารเครื่องบินเค้าสะสมไมล์เดินทางเพื่อแลกรับของสมนาคุณจากสายการบิน วันไหนที่แต้มครบเราก็อาจจะเอาแต้มนั้นไปแลกขึ้นรถเมล์ฟรี แถมเจ้าของความคิดนี้ยังแนะให้มีการต่อยอดเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนในรูปแบบอื่นๆ ทั้งรถไฟฟ้า รถตู้ หรือแม้แต่เรือโดยสาร เพื่อทำให้ผู้ที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนได้สนุกกับการสะสมแต้ม และยังเป็นการรณรงค์ให้คนหันมาใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้นด้วย

อ่านแล้วรู้สึกยังไงกันบ้างคะ ไอเดียทีเล่นทีจริงแบบนี้ โดนใจคุณผู้อ่านกันหรือเปล่า สำหรับผู้เขียน รู้สึกโดนใจกับไอเดียนี้อย่างแรงจนอยากจะกด Like ให้เลยทีเดียว เพราะการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชน นอกจากจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองกรุง ยังช่วยลดมลพิษบนท้องถนน ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอีกด้วย


ในขณะที่การโดยสารเครื่องบินใช้พลังงานและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) มากที่สุด แต่กลับมีรางวัลสมนาคุณให้ ยิ่งเดินทางมาก ยิ่งได้แต้มมาก ทั้งๆที่มันหมายถึงการปล่อยก๊าซ CO2 มากขึ้นด้วย แล้วทีเราๆ ท่านๆ ที่ช่วยกันใช้บริการระบบขนส่งมวลชน กลับไม่มีคะแนนสะสมหรือรางวัลให้(ซะงั้น)

คงจะดีไม่น้อยที่คุณค่าการใช้บริการรถสาธารณะสามารถแปลงกลับมาเป็นมูลค่าให้กับผู้ใช้บริการบ้าง เราคงรู้สนุกกับการนั่งรถเมล์มากขึ้น และอาจรู้สึกทนได้มากขึ้นกับการเบียดเสียดกันกับผู้โดยสารคนอื่นๆ เพราะเรารู้ว่าทุกๆ กิโลเมตรของการเบียดเสียดกันบนรถเมล์มันมีความหมายอย่างไรต่อเราและโลกของเราใบนี้

ถ้าจะคิดกันเล่นๆ แบบสุดๆ ไปเลยกับไอเดียนี้ ผู้เขียนขอเสนอว่า ของรางวัลจากการสะสมแต้มก็อาจจะเป็นมากกว่าการได้ขึ้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้าฟรี แต่อาจจะเป็นส่วนลดจากห้างร้านต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ เพราะตอนนี้ก็มีองค์กรธุรกิจหลายเจ้าที่ประกาศตัวว่าองค์กรสีเขียวที่พร้อมจะรักษ์โลกใบนี้ ร่วมด้วยช่วยกันหลายๆ ฝ่าย โลกของเราคงน่าอยู่ขึ้น

หากอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ลองมาช่วยกันคิดเล่นๆ ดูมั้ยคะว่าเราจะทำอย่างไรให้ไอเดียนี้ถูกส่งไปถึงผู้ใหญ่ของบ้านของเมืองที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องเหล่านี้ ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารการรถไฟฯ เรือเมล์ รถเมล์ รถไฟฟ้าBTS รถไฟฟ้า MRT แอร์พอร์ทลิงค์ หรือแม้แต่ผู้ว่าฯกทม. เพราะท่านเหล่านี้อาจจะมัวทำงานเพื่อบ้านเพื่อเมืองอย่างจริงจัง จนลืมคิดแก้ปัญหาจากมุมเล่นๆ ก็เป็นได้ คงต้องช่วยกันสักหน่อยค่ะ เผื่อท่านๆ เหล่านี้จะได้ยินสิ่งที่เราคิด(เล่นๆ)กันบ้าง



ถ้าไม่รู้จะเริ่มยังไง ลองคลิกบทความนี้เล่นๆ ส่งไปให้เพื่อนหรือคนที่รู้จักอ่านก่อนก็ได้ ไม่แน่นะคะ สิ่งที่เราๆ ท่านๆ คิดกัน ทำกันเล่นๆ แบบนี้ ก็อาจเป็นจริงได้ในซักวันนึง ใครจะจะไปรู้ :)


ขอขอบคุณ: คุณ ice-cream man เจ้าของไอเดีย Mileage Bus และคอลัมน์ขอเปลี่ยน นิตยสาร a day (ปีที่ 12 ฉบับที่ 132 เดือนสิงหาคม 2554) แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิดบทความนี้
                                             

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

HIA2.0: ความท้าทายใหม่ในสังคมไทย (2)




โจทย์ใหม่ของ HIA2.0
          โจทย์ใหม่ของ HIA2.0 จึงอยู่ที่การใช้ HIA เป็นเครื่องมือสำคัญกระบวนการตัดสินใจที่สังคมเป็นศูนย์กลาง นั่นคือ HIA จะถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนได้เรียนรู้และเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ HIA2.0 จะต้องดำเนินการในประเด็นที่สำคัญ 6 ประเด็นด้วยกันคือ
1. การเริ่มที่ต้นน้ำของการพัฒนา
          หากแนวคิดของ HIA2.0 ที่มุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างจริงจังในสังคม จนสามารถนำไปสู่ข้อสรุปที่พอจะยอมรับ และปฏิบัติได้ได้ในสังคม เราคงจะต้องเรียนรู้และยอมรับในข้อจำกัดที่ผ่านมาคือ การนำเอา HIA ไปใช้ในช่วงปลายน้ำของการพัฒนา ซึ่งแต่ละฝ่ายมักจะปักใจเชื่อในแนวทางการดำเนินการหรือจุดยืนของตน เช่น ฝ่ายเจ้าของโครงการ ก็วิเคราะห์ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจนชัดเจนในใจแล้ว และในหลายกรณีก็ได้มีการลงทุนในโครงการนั้นไปล่วงหน้าแล้ว ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ตน (แทบ) มิได้มีส่วนกำหนดได้ ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงตามมา โดยที่เป็นการยากที่จะย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของการวางแผนหรือการตัดสินใจที่ว่า ทางเลือกและทิศทางของการพัฒนาควรจะเป็นไร
ดังนั้นหาก HIA ต้องการรักษาจิตวิญญานของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือการถกแถลงในสังคมเอาไว้ HIA2.0 จะต้องมุ่งสู่การเป็นเครื่องมือของกระบวนการวางแผนและการตัดสินใจในช่วงต้นน้ำของการพัฒนา หมายถึง ตั้งแต่การกำหนดยุทธศาสตร์หรือแผนการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์หรือการวางแผนภาพรวม ยุทธศาสตร์หรือการวางแผนรายสาขา หรือยุทธศาสตร์หรือการวางแผนเชิงพื้นที่ก็ตาม
เพราะแม้ว่าในจุดเริ่มต้น แต่ละฝ่ายอาจจะยังมีความมุ่งหวังและแนวทางการพัฒนาที่แตกต่างกัน แต่ตราบใดที่แต่ละฝ่ายยังคงมิได้พัฒนาความมุ่งหวังของตนไปสู่จุดยืน รูปแบบ หรือโครงการที่ชัดเจนและจำเพาะเจาะจง ตราบนั้นพื้นที่ของการเรียนรู้ และการทำความเข้าใจร่วมกันก็ยังคงเปิดกว้างมากกว่า การถกเถียงและความขัดแย้งที่แต่ละฝ่ายต่างมองเห็นผลประโยชน์หรือผลกระทบที่ตนจะได้รับจากการดำเนินโครงการลอยอยู่ตรงหน้า
อย่างไรก็ดี การประยุกต์ใช้ HIA ในระดับของการวางแผนยุทธศาสตร์ก็เป็นสิ่งที่มีการคาดหวังไว้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว (เรียกว่า มีตั้งแต่ HIA1.0) แต่ที่ผ่านมา การประยุกต์ใช้จริงในสังคมไทยยังคงจำกัดอยู่ เนื่องจากอุปสรรคที่สำคัญ 3 ประการคือ
ก)     บริบททางการเมือง เนื่องจากที่ผ่านบริบททางการเมืองยังคงเพ็งเล็งที่การตัดสินใจของภาครัฐ ในขณะที่ภาครัฐ โดยเฉพาะภาครัฐส่วนกลาง ยังคงมองการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเพียงสัญลักษณ์เพื่อสร้างความชอบธรรม มากกว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง ส่วนภาคประชาชนก็มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และยังไม่สามารถวิเคราะห์ช่องทางการมีส่วนร่วมและนำเสนอทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ของตนในกระบวนการตัดสินใจของภาครัฐอย่างมีความหมายได้ ซึ่งต่างจากการคัดค้านโครงการที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของภาครัฐโดยตรง (นั่นคือ การยืนยันที่จะไม่ให้โครงการเดินหน้า)
ข)     ความคลุมเครือของภาพของแนวทางการพัฒนาและผลกระทบที่ตนจะได้รับจากทางเลือกในระดับยุทธศาสตร์ เนื่องจากการวางแผนระดับยุทธศาสตร์มักจะยังไม่มีภาพผลประโยชน์หรือผลกระทบที่ชัดเจนเหมือนระดับโครงการ ซึ่งสามารถระบุผลประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนกว่า (เช่น ผลประโยชน์ก็อาจคำนวณได้ถึงขั้นอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ส่วนผลกระทบก็อาจถึงขั้นทำแบบจำลองของผลกระทบได้) ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับการวางแผนยุทธศาสตร์มักดูไม่ค่อยมีความหมายหรือมีความสำคัญหรือไม่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อเรียบเทียบกับการตัดสินใจในระดับโครงการ
ค)     ความคลุมเครือในจุดหมายของการพัฒนา นอกเหนือจากความคลุมเครือของภาพแนวทางการพัฒนาและผลกระทบแล้ว การวางแผนยุทธศาสตร์ในประเทศไทยยังขาดความชัดเจนของจุดหมายของการพัฒนา (ซึ่งมิได้จำเป็นต้องมีจุดหมายเดียว) ทำให้กรอบการวิเคราะห์ทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมยิ่งมีความคลุมเครือมากขึ้น เพราะไม่สามารถเทียบเคียงข้อดีและข้อด้อยของแต่ละทางเลือกได้ เนื่องจากเป็นข้อดีและข้อด้อยแต่ละข้อล้วนมีคุณค่าที่แตกต่างกัน และไม่สามารถเทียบเคียงกันได้โดยง่าย (เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ VS อัตลักษณ์หรือจิตวิญญาณของท้องถิ่น ที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้โดยตรง)
เพราะฉะนั้น การพัฒนา HIA2.0 จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นจากหาจุดเชื่อมต่อกับกระบวนการตัดสินใจในต้นน้ำหรือต้นทางของการพัฒนา และทำให้กระบวนการตัดสินใจนั้นเป็นกระบวนการถกแถลงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง ซึ่งกล่าวในหลักการแล้ว ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าก็ดี การกำหนดผังประเทศ ผังภูมิภาค หรือผังเมืองก็ดี ล้วนก้าวหน้าไปในทิศทางเดียวกัน จนทำให้กระบวนการตัดสินใจแบบรวบรัดของภาครัฐแทบจะหมดความชอบธรรม โดยเฉพาะในการสร้างความยอมรับของประชาชน
โจทย์สำคัญของ HIA2.0 จึงอยู่ที่ว่า เราจะสามารถยกระดับกระบวนการตัดสินใจแบบถกแถลงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เป็นกระบวนการที่ทุกภาคส่วน (รวมทั้งภาครัฐ) ยอมรับว่าเป็นกระบวนการที่รอบคอบ สร้างสรรค์ และเป็นธรรมมากกว่ากระบวนการตัดสินใจของภาครัฐที่เป็นอยู่ในอนาคตได้อย่างไร
2. การนำเสนอทางเลือกการพัฒนาในระดับยุทธศาสตร์
แม้ว่าการนำ HIA2.0 ไปใช้ในระดับต้นน้ำของการพัฒนาจะช่วยเปิดช่องสำหรับทางเลือกในการตัดสินใจและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก่อนการตัดสินใจมากขึ้น แต่การยกระดับการใช้ HIA2.0 เข้าสู่ต้นน้ำของการพัฒนาจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลย หาก HIA2.0 ไม่สามารถช่วยนำเสนอทางเลือกการพัฒนาในระดับยุทธศาสตร์ เพื่อให้สังคมพิจารณาได้ เพราะหากปราศจากทางเลือกที่ชัดเจนแล้ว ก็เป็นการยากสำหรับสังคมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และตัดสินใจร่วมกัน
HIA2.0 จึงไม่ใช่การนำ HIA ไปใช้ในการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหรือโครงการของภาครัฐเท่านั้น แต่ HIA2.0 จะต้องระดมความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ โดยภาคประชาชนหรือภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางรัฐ ให้ช่วยกันพัฒนาและเสนอทางเลือก ที่คิดว่าน่าจะเป็นผลดีมากกว่าให้สังคมได้ขบคิดและพิจารณา
การนำเสนอทางเลือกในการพัฒนาจึงเป็นการทำงานมิติใหม่ของภาคประชาชน ที่พัฒนาจากการนำเสนอจุดยืนและความห่วงใยของตน อันเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน ไปสู่การออกแบบแนวทางการพัฒนาใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางที่ต่อยอดมาจากจุดยืนเดิม หรือการสร้างสรรค์แนวทางการพัฒนาใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากแนวทางที่ภาครัฐกำหนดมา และน่าจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน
การสร้างทางเลือกของการพัฒนาจะเป็นการเปิดทางเลือกครั้งสำคัญสำหรับสังคมไทย ทำให้สังคมไทยพ้นจากภาวะความกังวลว่า ถ้าไม่ทำอย่างนั้น แล้วจะทำอย่างไร (เช่น ความกังวลว่าถ้าไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือนิวเคลียร์แล้วจะทำอย่างไร ไฟฟ้าจะดับหรือไม่) โดยการเสนอทางเลือกเพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบถึงผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ที่จะตามมาในแต่ละทางเลือก ซึ่งจะก้าวถึงในลำดับต่อไป
ที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่ภาคประชาชนสามารถนำเสนอทางเลือกในการพัฒนาเช่น ทางเลือกในการพัฒนาระบบการระบายน้ำในลุ่มน้ำท่าจีน หรือผังเมืองทางเลือกเพื่อสุขภาวะ หรือทางเลือกของแผนพลังงานในภาคใต้ เป็นต้น แต่ในอีกหลายกรณี ภาคประชาชนก็ยังไม่สามารถนำเสนอทางเลือกการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมได้ ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาทางเลือกเหล่านี้ต่อไป
ภาพที่ 1 ตัวอย่างการสร้างทางเลือกในการพัฒนา กรณีผังเมืองทางเลือก
ที่มา: มูลนิธินโยบายสุขภาพ; ฝัน ร่าง สร้าง ทำ
                3. การพัฒนาเครื่องมือการฉายภาพอนาคตร่วมกัน
อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดสำคัญประการหนึ่งในการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคือ ความคลุมเครือในการฉายภาพอนาคต ทำให้ไม่สามารถน้อมนำเอาความห่วงใยและความมุ่งหวังของภาคส่วนต่างๆ มาให้เป็นทางเลือกเชิงนโยบายที่มีองค์ประกอบย่อยๆ ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทุกฝ่ายจึงถกเถียงกันได้เพียงในระดับของจุดยืนและสิทธิของแต่ละฝ่าย ซึ่งมักจะแตกต่างและยากที่จะประสานเข้าด้วยกัน
นอกจากนั้น ความจำกัดในการฉายภาพอนาคตยังส่งผลต่อความจำกัดของวิธีการสื่อสารในกระบวนการตัดสินใจ เนื่องจากเรายังไม่สามารถในฉายภาพอนาคตร่วมกันได้ (หรือไม่สามารถ Visualization ได้) และเรายังไม่สามารถคิดคำนวณเพื่อเปรียบเทียบขนาดของความเปลี่ยนแปลงหรือความแตกต่างระหว่างทางเลือกหรือแนวคิดที่ต่างกันกันได้ (หรือไม่สามารถ Quantification ได้) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราไม่สามารถสร้างฉากต่างๆ (หรือที่เรียกว่า scenarios) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถถกแถลงแลกเปลี่ยนร่วมกันได้
ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกระบวนการนโยบายที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่ จึงถูกจำกัดอยู่ในระดับการแสดงจุดยืนด้วยการใช้คำพูดหรือภาษา (หรือ Verbal) เท่านั้น ซึ่งมักจะมีข้อจำกัดในการสื่อความ เพราะในหลายกรณีก็ไม่สามารถสื่อให้เห็นภาพ หรือขนาดความแตกต่างของผลกระทบให้เข้าใจตรงกันได้
ดังนั้น HIA2.0 จึงต้องก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปให้ได้ โดยทุ่มเทที่จะพัฒนาเครื่องมือที่จะสามารถนำเสนอภาพความเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบในมิติต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ และสามารถปรับเปลี่ยนหรือคิดคำนวณได้รวดเร็ว (หรือที่เรียกว่า interactive) เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม รวมถึงยังสามารถนำไปสู่การคิดหาทางเลือกใหม่ร่วมกันได้อีกด้วย
ที่ผ่านมา การพัฒนา HIA ในประเทศไทยได้กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเรื่องการจัดทำแผนที่ชุมชนขึ้นมาอย่างมากในหลายกรณี ดังตัวอย่างเช่น ในกรณีแผนที่ผลกระทบทางสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ในจังหวัดเลย หรือ การทำทางเลือกของการจัดการผังเมืองในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง เป็นต้น การจัดทำแผนที่ชุมชนถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากของการสร้างเครื่องมือแบบสื่อภาพอนาคตร่วมกัน

          นอกจากการทำแผนที่แล้ว การใช้เทคนิคภาพถ่ายและการตบแต่งภาพก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในเอื้อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างอาคารสูง ผลกระทบจากการสร้างท่าเรือหรือสิ่งก่อสร้างในทะเลหรือแหล่งน้ำ หรือผลกระทบจากการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เป็นต้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การทำ HIA ในประเทศไทยมีการนำเทคนิคด้านภาพถ่ายมาใช้ไม่มากนัก


ภาพที่ 2 ตัวอย่างการทำแผนที่ชุมชนโดยชุมชนบ้านนาดินดำ อ.เมือง จ.เลย

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

แต่เทคนิควิธีการที่ยังมีการใช้กันน้อยมากในประเทศไทยคือ การแสดงภาพอนาคต หรือฉากของอนาคต ด้วยแบบจำลองที่สามารถปรับเปลี่ยนภาพอนาคตร่วมกันได้ (หรือ interactive modeling) ตามข้อคิดเห็นหรือการทดลองของภาคส่วนต่างๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงขนาดของผลกระทบที่แตกต่างกันของแต่ละทางเลือก (หรือแต่ละข้อเสนอ) ทั้งทางบวกและทางลบ รวมถึงขนาดของผลกระทบที่เปลี่ยนไป ภายหลังจากการหารือและแสวงหาทางออก (หรือมาตรการใหม่ๆ) ร่วมกัน อันจะนำมาสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน และโอกาสในการแสวงหาข้อยุติสำหรับการตัดสินใจร่วมกันต่อไป
           ปัจจุบัน ในต่างประเทศมีการพัฒนาแบบจำลองที่สามารถปรับเปลี่ยนภาพอนาคตร่วมกันได้ มาใช้ในหลายกรณี ทั้งแบบจำลองการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ หรือแบบจำลองการสร้างเมือง แบบจำลองการสร้างระบบพลังงาน โดยมีทั้งเพื่อใช้ในการวางแผนจริง และการใช้เป็นเกมส์เพื่อการเรียนรู้ที่จำลองภาพความเป็นจริงในปัจจุบันและในอนาคต
          ความท้าทายของการพัฒนาแบบจำลองที่สามารถปรับเปลี่ยนภาพอนาคตร่วมกันได้คือ การสร้างระบบข้อมูลพื้นฐาน ข้อกำหนดของผลกระทบ และค่าสัมประสิทธิ์ของผลกระทบในด้านต่างๆ อันเป็นที่ยอมรับกัน จากนั้นจึงนำแบบจำลองมาพัฒนาเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถเอื้ออำนวยต่อการปรับเปลี่ยนทางเลือกหรือแนวนโยบายร่วมกันในอนาคตได้





ภาพที่ 3 ตัวอย่างแบบจำลองผลกระทบจากการพัฒนาพลังงานในรูปแบบต่างๆ
ที่มา: Energyville by Chevron



ในทางปฏิบัติ การพัฒนาแบบจำลองที่สามารถปรับเปลี่ยนภาพอนาคตร่วมกันได้อาจจำเป็นต้องพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปตามรายกรณี โดยพิจารณาจากความจำเป็นในการใช้ประโยชน์และความพร้อมของข้อมูลและค่าสัมประสิทธิ์ของผลกระทบอันเป็นที่ยอมรับร่วมกัน เช่น อาจเริ่มต้นจากแบบจำลองสำหรับการวางผังเมืองหรือวางผังอนุภาค หรือการจัดการขยะสำหรับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือการจัดการพลังงานสำหรับแต่ละภูมิภาค เป็นต้น



                  4. การเชื่อมโยงปัจจัยที่กำหนดสุขภาพให้ครบถ้วน
 ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการประยุกต์ใช้ HIA ในประเทศไทยคือ การเชื่อมโยงปัจจัยที่กำหนดสุขภาพเข้าสู่การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ และเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพมักถูกวิพากษ์ถึงความแม่นยำของข้อมูลและของการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพที่จะตามมา ทำให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพในประเทศไทยที่ผ่านมายังคงโน้มเอียงไปทางสิ่งแวดล้อมเชิงกายภาพและชีวภาพมากกว่า การประเมินผลกระทบทางสุขภาพอย่างรอบด้าน ทั้งในเชิงสุขภาพจิต ในเชิงสังคม และในเชิงปัญญาหรือจิตวิญญาณ
ความไม่สมดุลดังกล่าว นอกจากจะมีผลต่อความครบถ้วนสมบูรณ์ของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพแล้ว ยังมีผลในการลดทอนน้ำหนักความสำคัญของเสียงเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่หรือในแต่ละกรณี ซึ่งไม่สามารถแปลงผลกระทบอันเนื่องการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางสังคมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของตน มาเป็นข้อมูลหลักฐานหรือข้อมูลตัวเลขที่แน่ชัดได้ ผลกระทบดังกล่าวจึงถือเสมือนว่าตกไปจากการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือ แม้ว่าจะระบุไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ แต่ก็ไม่มีน้ำหนักมากนักในการตัดสินใจของภาครัฐ
ความท้าทายของ HIA2.0 จึงอยู่ที่การพัฒนาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางสังคมและทางจิตวิญญาณ ซึ่งยังคงมีข้อมูลที่จำกัดมาก อย่างไรก็ดี พัฒนาการล่าสุดในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการสำรวจระดับความสุขของคนไทย และการสำรวจมิติความก้าวหน้าของคนไทยในพื้นที่ต่างๆ โดยการดำเนินการร่วมกัน ระหว่างกรมสุขภาพจิต สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญในการพัฒนาฐานข้อมูลเบื้องต้น และเครื่องมือสำหรับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพควบคู่ไปกับเครื่องมือการฉายภาพแห่งอนาคตร่วมกัน
          ดังนั้น ในระยะต่อไป การประเมินผลกระทบทางสุขภาพจึงจะต้องให้ความสำคัญกับการนำเสนอผลกระทบทางสุขภาพจากความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางสังคม (รวมถึงปัจจัยทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น) โดยการพัฒนาทั้งฐานข้อมูลและเครื่องมือในการประเมินผลกระทบดังกล่าว เพื่อให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพมีความครบถ้วนรอบด้านมากยิ่งขึ้น
          ขณะเดียวกัน การประเมินผลกระทบสุขภาพก็ต้องเชื่อมโยงมิติผลกระทบทางสุขภาพเข้าสู่เป้าหมายภาพรวมของการพัฒนา ซึ่งจำเป็นจะต้องพัฒนาและถูกกำหนดขึ้นโดยประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยอาจแสดงออกมาเป็นรูปดัชนีหรือตัวชี้วัดของการพัฒนาใหม่ (เช่น กรณีความสุขมวลรวมประชาชาติของประเทศภูฏาน) การเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายภาพรวมของการพัฒนากับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจะช่วยเพิ่มน้ำหนักความสำคัญของผลกระทบทางสุขภาพ ของปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ และของกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในสังคมไปพร้อมๆ กัน
5. การพัฒนาฐานข้อมูลที่โปร่งใสและพร้อมใช้งาน
ความพยายามของ HIA2.0 ในการสร้างเครื่องมือการฉายภาพอนาคต และการเชื่อมโยงปัจจัยกำหนดสุขภาพจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลสนับสนุนที่ดี โดยเป็นฐานข้อมูลที่มีข้อมูลผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยในมิติต่างๆ และจัดอยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งาน (นั่นคือ สามารถสนับสนุนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพของแต่ละกรณีได้อย่างทันท่วงที) และเป็นฐานข้อมูลที่สามารถสร้างความยอมรับร่วมกันของผู้คนในสังคมได้มากขึ้น
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การประเมินผลกระทบทางสุขภาพแต่ละกรณี ผู้ศึกษามักจะต้องเริ่มต้นจากการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง โดยไม่มีระบบหรือไม่มีคลังในการเก็บและสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ในกรณีอื่นๆ ดังนั้น การประเมินผลกระทบทางสุขภาพในแต่ละกรณีจึงจำเป็นต้องใช้เวลามาก และมักจะต้องการผู้เชี่ยวชาญในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพมักมีความล่าช้าออกไป
การสร้างระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิผลจึงต้องเน้นถึงความพร้อมใช้งานในการสนับสนุนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในแต่ละกรณีอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ลดระยะเวลาและต้นทุนในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพลง ทั้งนี้ การที่จะดำเนินการเช่นนั้นได้ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลจำเป็นต้องมีการวางแผนถึงลักษณะของการใช้งานไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะออกแบบให้สามารถข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ได้โดยทันที ตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบผลกระทบของทางเลือกในการจัดการขยะในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เนื่องจากโจทย์ประการหนึ่งของการพัฒนาระบบ HIA2.0 คือ การแสวงหาการยอมรับร่วมกัน นั่นย่อมหมายความว่า ฐานข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการประเมินผลกระทบก็จำเป็นจะต้องได้รับการยอมรับด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ การเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลจึงจำเป็นต้องทำอย่างเปิดเผยและเป็นระบบ คือ สามารถรับฟังเสียงสะท้อนเกี่ยวกับคุณภาพของข้อมูลและฐานข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง และควรกระทำก่อนที่จะมีการนำฐานข้อมูลนั้นไปใช้ในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในแต่ละกรณี เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดการไม่ยอมรับในชุดข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน



ภาพที่ 4 ตัวอย่างการพัฒนาระบบฐานข้อมูลผลกระทบโดยวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ด้วยโปรแกรม Sima Pro


พัฒนาระบบฐานข้อมูลจึงอาจจำเป็นต้องเป็นไปในระบบเปิดหรือระบบอาสาสมัคร (คล้ายกับ wikipedia) เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอและปรับปรุงฐานข้อมูล รวมถึงอาจจัดสัมมนา หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการในแต่ละด้าน หรือแต่ละประเด็น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ในฐานข้อมูล ซึ่งนอกจากจะช่วยกลั่นกรองคุณภาพของข้อมูล ช่วยทำให้เกิดการยอมรับในตัวข้อมูล และยังช่วยส่งเสริมให้มีการนำฐานข้อมูลนี้ไปใช้ในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพด้วย
6. ความเป็นเจ้าของในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ
ปัญหาที่พบในระยะที่ผ่านมาคือ เมื่อการประเมินผลกระทบทางสุขภาพถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ก็มีผลให้ความเป็นเจ้าของในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพถูกถ่ายโอนจากภาคประชาชน ไปสู่ภาครัฐ (ในฐานะผู้อนุมัติโครงการ) เจ้าของโครงการ (ในฐานะผู้ว่าจ้างให้มีการประเมินผลกระทบ) และบริษัทที่ปรึกษา (ในฐานะผู้ทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ) ส่วนภาคประชาชนก็เป็นเพียงผู้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพเท่านั้น
ดังนั้น การพัฒนา HIA 2.0 จึงจำเป็นต้องออกแบบให้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ (ทั้งทางบวกและทางลบ) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้สมกับการเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม
การพัฒนาเครื่องมือและฐานข้อมูลต่างๆ จึงจะต้องระมัดระวังไม่ให้กลายเป็นการลดทอนความเป็นเจ้าของในกระบวนการHIA ของชุมชนลงมา กระบวนการ HIA2.0 จึงควรเริ่มต้นจากสิทธิพื้นฐานของชุมชนในการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และความมุ่งหวังในทิศทางการพัฒนาของชุมชนเป็นตัวตั้ง ส่วนเครื่องมือต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นกันได้สะดวกขึ้น (รวมถึงสามารถปรับเปลี่ยนทางเลือกต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย) มากกว่าที่จะใช้เป็นคำตอบสำเร็จรูปในกระบวนการตัดสินใจที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
เมื่อเป็นเช่นนี้ เครื่องมือการประเมินผลกระทบทางสุขภาพที่เป็นกระบวนการของภาคประชาชนเอง เช่น การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน ก็ควรได้รับยกระดับอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน โดยควรมุ่งเน้นความเชื่อมโยงเป็นองค์รวม และความเป็นระบบในการเก็บรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล ไปพร้อมๆกันกับการเพิ่มพูนความสามารถในการสื่อความหมาย เพื่อให้เห็นถึงภาพอนาคตที่ชุมชนหรือประชาชนมุ่งหวัง (หรือห่วงใย) และสามารถแลกเปลี่ยนทิศทางความมุ่งหวัง (หรือความห่วงใย) ดังกล่าว ได้ทัดเทียมกับภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม
การสร้างระบบในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีต่างๆ ในการ HIA2.0 เช่น การทำงานระหว่างผู้จัดทำฐานข้อมูล ผู้พัฒนาเครื่องมือการฉายภาพอนาคต ภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ภาคส่วนอื่นๆ และหน่วยงานที่ตัดสินใจ จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย เพราะเป็นความท้าทายในระดับวัฒนธรรมที่จะสร้างกระบวนการประเมินผลกระทบและกระบวนการตัดสินใจที่หลายฝ่ายเป็นเจ้าของร่วมกัน แทนที่กระบวนการตัดสินใจที่มีภาครัฐเป็นจุดศูนย์กลางหลักเช่นที่ผ่านมา



สรุป HIA2.0
          การก้าวไปสู่ HIA2.0 จึงเป็นการก้าวย่างหรือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ไม่ว่าจะในเชิงกระบวนทัศน์ ในเชิงกระบวนการ และในเชิงวิธีการหรือเครื่องมือ
ในเชิงกระบวนทัศน์ HIA2.0 จะต้องเปลี่ยนจากกระบวนการตัดสินใจที่มีรัฐเป็นศูนย์กลาง เปลี่ยนเป็นกระบวนการตัดสินใจที่มีสังคมเป็นศูนย์กลาง โดยจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจตั้งแต่ต้นน้ำของการพัฒนา หรือตั้งแต่การวางแผนยุทธศาสตร์ในภาพรวม ในรายสาขา หรือในแต่ละพื้นที่ และปรับกระบวนการและเครื่องมือให้สนับสนุนการถกแถลง และเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในกระบวนการตัดสินใจ
ในเชิงกระบวนการ นอกจากจะต้องประยุกต์ใช้ HIA2.0 ในต้นน้ำของการพัฒนามากขึ้น ยังต้องนำเสนอทางเลือกในการพัฒนาอย่างชัดเจน และจะต้องทำให้ HIA เป็นกระบวนการที่ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สามารถเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของกระบวนการดังกล่าวได้อย่างมีความหมาย ด้วยกระบวนการที่แบ่งงานและประสานงานกัน ทั้งตั้งแต่ก่อนการทำ HIA (เช่น การจัดทำระบบฐานข้อมูลและเครื่องมือต่างๆ) และหลังการทำ HIA (เช่น การสื่อสารสู่สังคม และการผลักดันการตัดสินใจที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ)
ในเชิงเครื่องมือ HIA2.0 ต้องสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ด้วยการพัฒนาเครื่องมือที่จะใช้ร่วมกันในการฉายภาพอนาคต (ซึ่งจำเป็นมากสำหรับการวางแผนและการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ในต้นน้ำของการพัฒนา) และการเชื่อมโยงปัจจัยกำหนดสุขภาพให้ครบถ้วนและเชื่อมโยงกับเป้าหมายโดยรวมของการพัฒนา โดยมีความมุ่งหวังในการพัฒนาของประชาชนในแต่ละพื้นที่เป็นศูนย์กลาง รวมถึงต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่สามารถเรียกใช้งานได้สะดวก และเป็นที่ยอมรับเพื่อสนับสนุนให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพสามารถมาประยุกต์ใช้ได้อย่างทันการณ์
แท้จริงแล้ว การพัฒนารายประการใน HIA2.0 ได้เริ่มขึ้นแล้วในปัจจุบัน ด้วยการดำเนินการขององค์กรต่างๆ รวมถึงกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้น HIA2.0 จึงมิใช่เรื่องใหม่ถอดด้าม หากแต่เป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดและจุดเน้นของการใช้ HIA ในประเทศไทย เพื่อให้การใช้ HIA ในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมนั้นมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการและเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้ HIA สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้แต่ละฝ่ายได้แลกเปลี่ยนแนวคิด ทางเลือก ความมุ่งหวัง และความห่วงใยของตนได้ดียิ่งขึ้น
HIA2.0 จะปรากฏเป็นจริงได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาเครื่องมือ ฐานข้อมูล กระบวนการ และกระบวนทัศน์เหล่านี้ขึ้นมา ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งของการพัฒนาในสังคมไทยมีแนวโน้มที่จะเขม็งเกลียวมากขึ้นทุกขณะ
ความมุ่งหวังสูงสุดของ HIA2.0 คือ การเป็นกระบวนการที่สามารถช่วยให้ภาคส่วนต่างๆของสังคมค้นหาและพัฒนาคำตอบที่ดีต่อสุขภาพ และดีต่อการพัฒนาในมิติอื่นๆ รวมถึงเป็นที่ยอมรับ และเป็นแนวทางประสานพลังของภาคส่วนต่างๆของสังคมอย่างแท้จริง