วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

HIA2.0: ความท้าทายใหม่ในสังคมไทย (2)




โจทย์ใหม่ของ HIA2.0
          โจทย์ใหม่ของ HIA2.0 จึงอยู่ที่การใช้ HIA เป็นเครื่องมือสำคัญกระบวนการตัดสินใจที่สังคมเป็นศูนย์กลาง นั่นคือ HIA จะถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนได้เรียนรู้และเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ HIA2.0 จะต้องดำเนินการในประเด็นที่สำคัญ 6 ประเด็นด้วยกันคือ
1. การเริ่มที่ต้นน้ำของการพัฒนา
          หากแนวคิดของ HIA2.0 ที่มุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างจริงจังในสังคม จนสามารถนำไปสู่ข้อสรุปที่พอจะยอมรับ และปฏิบัติได้ได้ในสังคม เราคงจะต้องเรียนรู้และยอมรับในข้อจำกัดที่ผ่านมาคือ การนำเอา HIA ไปใช้ในช่วงปลายน้ำของการพัฒนา ซึ่งแต่ละฝ่ายมักจะปักใจเชื่อในแนวทางการดำเนินการหรือจุดยืนของตน เช่น ฝ่ายเจ้าของโครงการ ก็วิเคราะห์ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจนชัดเจนในใจแล้ว และในหลายกรณีก็ได้มีการลงทุนในโครงการนั้นไปล่วงหน้าแล้ว ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ตน (แทบ) มิได้มีส่วนกำหนดได้ ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงตามมา โดยที่เป็นการยากที่จะย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของการวางแผนหรือการตัดสินใจที่ว่า ทางเลือกและทิศทางของการพัฒนาควรจะเป็นไร
ดังนั้นหาก HIA ต้องการรักษาจิตวิญญานของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือการถกแถลงในสังคมเอาไว้ HIA2.0 จะต้องมุ่งสู่การเป็นเครื่องมือของกระบวนการวางแผนและการตัดสินใจในช่วงต้นน้ำของการพัฒนา หมายถึง ตั้งแต่การกำหนดยุทธศาสตร์หรือแผนการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์หรือการวางแผนภาพรวม ยุทธศาสตร์หรือการวางแผนรายสาขา หรือยุทธศาสตร์หรือการวางแผนเชิงพื้นที่ก็ตาม
เพราะแม้ว่าในจุดเริ่มต้น แต่ละฝ่ายอาจจะยังมีความมุ่งหวังและแนวทางการพัฒนาที่แตกต่างกัน แต่ตราบใดที่แต่ละฝ่ายยังคงมิได้พัฒนาความมุ่งหวังของตนไปสู่จุดยืน รูปแบบ หรือโครงการที่ชัดเจนและจำเพาะเจาะจง ตราบนั้นพื้นที่ของการเรียนรู้ และการทำความเข้าใจร่วมกันก็ยังคงเปิดกว้างมากกว่า การถกเถียงและความขัดแย้งที่แต่ละฝ่ายต่างมองเห็นผลประโยชน์หรือผลกระทบที่ตนจะได้รับจากการดำเนินโครงการลอยอยู่ตรงหน้า
อย่างไรก็ดี การประยุกต์ใช้ HIA ในระดับของการวางแผนยุทธศาสตร์ก็เป็นสิ่งที่มีการคาดหวังไว้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว (เรียกว่า มีตั้งแต่ HIA1.0) แต่ที่ผ่านมา การประยุกต์ใช้จริงในสังคมไทยยังคงจำกัดอยู่ เนื่องจากอุปสรรคที่สำคัญ 3 ประการคือ
ก)     บริบททางการเมือง เนื่องจากที่ผ่านบริบททางการเมืองยังคงเพ็งเล็งที่การตัดสินใจของภาครัฐ ในขณะที่ภาครัฐ โดยเฉพาะภาครัฐส่วนกลาง ยังคงมองการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเพียงสัญลักษณ์เพื่อสร้างความชอบธรรม มากกว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง ส่วนภาคประชาชนก็มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และยังไม่สามารถวิเคราะห์ช่องทางการมีส่วนร่วมและนำเสนอทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ของตนในกระบวนการตัดสินใจของภาครัฐอย่างมีความหมายได้ ซึ่งต่างจากการคัดค้านโครงการที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของภาครัฐโดยตรง (นั่นคือ การยืนยันที่จะไม่ให้โครงการเดินหน้า)
ข)     ความคลุมเครือของภาพของแนวทางการพัฒนาและผลกระทบที่ตนจะได้รับจากทางเลือกในระดับยุทธศาสตร์ เนื่องจากการวางแผนระดับยุทธศาสตร์มักจะยังไม่มีภาพผลประโยชน์หรือผลกระทบที่ชัดเจนเหมือนระดับโครงการ ซึ่งสามารถระบุผลประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนกว่า (เช่น ผลประโยชน์ก็อาจคำนวณได้ถึงขั้นอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ส่วนผลกระทบก็อาจถึงขั้นทำแบบจำลองของผลกระทบได้) ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับการวางแผนยุทธศาสตร์มักดูไม่ค่อยมีความหมายหรือมีความสำคัญหรือไม่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อเรียบเทียบกับการตัดสินใจในระดับโครงการ
ค)     ความคลุมเครือในจุดหมายของการพัฒนา นอกเหนือจากความคลุมเครือของภาพแนวทางการพัฒนาและผลกระทบแล้ว การวางแผนยุทธศาสตร์ในประเทศไทยยังขาดความชัดเจนของจุดหมายของการพัฒนา (ซึ่งมิได้จำเป็นต้องมีจุดหมายเดียว) ทำให้กรอบการวิเคราะห์ทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมยิ่งมีความคลุมเครือมากขึ้น เพราะไม่สามารถเทียบเคียงข้อดีและข้อด้อยของแต่ละทางเลือกได้ เนื่องจากเป็นข้อดีและข้อด้อยแต่ละข้อล้วนมีคุณค่าที่แตกต่างกัน และไม่สามารถเทียบเคียงกันได้โดยง่าย (เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ VS อัตลักษณ์หรือจิตวิญญาณของท้องถิ่น ที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้โดยตรง)
เพราะฉะนั้น การพัฒนา HIA2.0 จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นจากหาจุดเชื่อมต่อกับกระบวนการตัดสินใจในต้นน้ำหรือต้นทางของการพัฒนา และทำให้กระบวนการตัดสินใจนั้นเป็นกระบวนการถกแถลงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง ซึ่งกล่าวในหลักการแล้ว ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าก็ดี การกำหนดผังประเทศ ผังภูมิภาค หรือผังเมืองก็ดี ล้วนก้าวหน้าไปในทิศทางเดียวกัน จนทำให้กระบวนการตัดสินใจแบบรวบรัดของภาครัฐแทบจะหมดความชอบธรรม โดยเฉพาะในการสร้างความยอมรับของประชาชน
โจทย์สำคัญของ HIA2.0 จึงอยู่ที่ว่า เราจะสามารถยกระดับกระบวนการตัดสินใจแบบถกแถลงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เป็นกระบวนการที่ทุกภาคส่วน (รวมทั้งภาครัฐ) ยอมรับว่าเป็นกระบวนการที่รอบคอบ สร้างสรรค์ และเป็นธรรมมากกว่ากระบวนการตัดสินใจของภาครัฐที่เป็นอยู่ในอนาคตได้อย่างไร
2. การนำเสนอทางเลือกการพัฒนาในระดับยุทธศาสตร์
แม้ว่าการนำ HIA2.0 ไปใช้ในระดับต้นน้ำของการพัฒนาจะช่วยเปิดช่องสำหรับทางเลือกในการตัดสินใจและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก่อนการตัดสินใจมากขึ้น แต่การยกระดับการใช้ HIA2.0 เข้าสู่ต้นน้ำของการพัฒนาจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลย หาก HIA2.0 ไม่สามารถช่วยนำเสนอทางเลือกการพัฒนาในระดับยุทธศาสตร์ เพื่อให้สังคมพิจารณาได้ เพราะหากปราศจากทางเลือกที่ชัดเจนแล้ว ก็เป็นการยากสำหรับสังคมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และตัดสินใจร่วมกัน
HIA2.0 จึงไม่ใช่การนำ HIA ไปใช้ในการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหรือโครงการของภาครัฐเท่านั้น แต่ HIA2.0 จะต้องระดมความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ โดยภาคประชาชนหรือภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางรัฐ ให้ช่วยกันพัฒนาและเสนอทางเลือก ที่คิดว่าน่าจะเป็นผลดีมากกว่าให้สังคมได้ขบคิดและพิจารณา
การนำเสนอทางเลือกในการพัฒนาจึงเป็นการทำงานมิติใหม่ของภาคประชาชน ที่พัฒนาจากการนำเสนอจุดยืนและความห่วงใยของตน อันเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน ไปสู่การออกแบบแนวทางการพัฒนาใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางที่ต่อยอดมาจากจุดยืนเดิม หรือการสร้างสรรค์แนวทางการพัฒนาใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากแนวทางที่ภาครัฐกำหนดมา และน่าจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน
การสร้างทางเลือกของการพัฒนาจะเป็นการเปิดทางเลือกครั้งสำคัญสำหรับสังคมไทย ทำให้สังคมไทยพ้นจากภาวะความกังวลว่า ถ้าไม่ทำอย่างนั้น แล้วจะทำอย่างไร (เช่น ความกังวลว่าถ้าไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือนิวเคลียร์แล้วจะทำอย่างไร ไฟฟ้าจะดับหรือไม่) โดยการเสนอทางเลือกเพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบถึงผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ที่จะตามมาในแต่ละทางเลือก ซึ่งจะก้าวถึงในลำดับต่อไป
ที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่ภาคประชาชนสามารถนำเสนอทางเลือกในการพัฒนาเช่น ทางเลือกในการพัฒนาระบบการระบายน้ำในลุ่มน้ำท่าจีน หรือผังเมืองทางเลือกเพื่อสุขภาวะ หรือทางเลือกของแผนพลังงานในภาคใต้ เป็นต้น แต่ในอีกหลายกรณี ภาคประชาชนก็ยังไม่สามารถนำเสนอทางเลือกการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมได้ ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาทางเลือกเหล่านี้ต่อไป
ภาพที่ 1 ตัวอย่างการสร้างทางเลือกในการพัฒนา กรณีผังเมืองทางเลือก
ที่มา: มูลนิธินโยบายสุขภาพ; ฝัน ร่าง สร้าง ทำ
                3. การพัฒนาเครื่องมือการฉายภาพอนาคตร่วมกัน
อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดสำคัญประการหนึ่งในการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคือ ความคลุมเครือในการฉายภาพอนาคต ทำให้ไม่สามารถน้อมนำเอาความห่วงใยและความมุ่งหวังของภาคส่วนต่างๆ มาให้เป็นทางเลือกเชิงนโยบายที่มีองค์ประกอบย่อยๆ ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทุกฝ่ายจึงถกเถียงกันได้เพียงในระดับของจุดยืนและสิทธิของแต่ละฝ่าย ซึ่งมักจะแตกต่างและยากที่จะประสานเข้าด้วยกัน
นอกจากนั้น ความจำกัดในการฉายภาพอนาคตยังส่งผลต่อความจำกัดของวิธีการสื่อสารในกระบวนการตัดสินใจ เนื่องจากเรายังไม่สามารถในฉายภาพอนาคตร่วมกันได้ (หรือไม่สามารถ Visualization ได้) และเรายังไม่สามารถคิดคำนวณเพื่อเปรียบเทียบขนาดของความเปลี่ยนแปลงหรือความแตกต่างระหว่างทางเลือกหรือแนวคิดที่ต่างกันกันได้ (หรือไม่สามารถ Quantification ได้) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราไม่สามารถสร้างฉากต่างๆ (หรือที่เรียกว่า scenarios) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถถกแถลงแลกเปลี่ยนร่วมกันได้
ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกระบวนการนโยบายที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่ จึงถูกจำกัดอยู่ในระดับการแสดงจุดยืนด้วยการใช้คำพูดหรือภาษา (หรือ Verbal) เท่านั้น ซึ่งมักจะมีข้อจำกัดในการสื่อความ เพราะในหลายกรณีก็ไม่สามารถสื่อให้เห็นภาพ หรือขนาดความแตกต่างของผลกระทบให้เข้าใจตรงกันได้
ดังนั้น HIA2.0 จึงต้องก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปให้ได้ โดยทุ่มเทที่จะพัฒนาเครื่องมือที่จะสามารถนำเสนอภาพความเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบในมิติต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ และสามารถปรับเปลี่ยนหรือคิดคำนวณได้รวดเร็ว (หรือที่เรียกว่า interactive) เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม รวมถึงยังสามารถนำไปสู่การคิดหาทางเลือกใหม่ร่วมกันได้อีกด้วย
ที่ผ่านมา การพัฒนา HIA ในประเทศไทยได้กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเรื่องการจัดทำแผนที่ชุมชนขึ้นมาอย่างมากในหลายกรณี ดังตัวอย่างเช่น ในกรณีแผนที่ผลกระทบทางสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ในจังหวัดเลย หรือ การทำทางเลือกของการจัดการผังเมืองในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง เป็นต้น การจัดทำแผนที่ชุมชนถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากของการสร้างเครื่องมือแบบสื่อภาพอนาคตร่วมกัน

          นอกจากการทำแผนที่แล้ว การใช้เทคนิคภาพถ่ายและการตบแต่งภาพก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในเอื้อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างอาคารสูง ผลกระทบจากการสร้างท่าเรือหรือสิ่งก่อสร้างในทะเลหรือแหล่งน้ำ หรือผลกระทบจากการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เป็นต้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การทำ HIA ในประเทศไทยมีการนำเทคนิคด้านภาพถ่ายมาใช้ไม่มากนัก


ภาพที่ 2 ตัวอย่างการทำแผนที่ชุมชนโดยชุมชนบ้านนาดินดำ อ.เมือง จ.เลย

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

แต่เทคนิควิธีการที่ยังมีการใช้กันน้อยมากในประเทศไทยคือ การแสดงภาพอนาคต หรือฉากของอนาคต ด้วยแบบจำลองที่สามารถปรับเปลี่ยนภาพอนาคตร่วมกันได้ (หรือ interactive modeling) ตามข้อคิดเห็นหรือการทดลองของภาคส่วนต่างๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงขนาดของผลกระทบที่แตกต่างกันของแต่ละทางเลือก (หรือแต่ละข้อเสนอ) ทั้งทางบวกและทางลบ รวมถึงขนาดของผลกระทบที่เปลี่ยนไป ภายหลังจากการหารือและแสวงหาทางออก (หรือมาตรการใหม่ๆ) ร่วมกัน อันจะนำมาสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน และโอกาสในการแสวงหาข้อยุติสำหรับการตัดสินใจร่วมกันต่อไป
           ปัจจุบัน ในต่างประเทศมีการพัฒนาแบบจำลองที่สามารถปรับเปลี่ยนภาพอนาคตร่วมกันได้ มาใช้ในหลายกรณี ทั้งแบบจำลองการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ หรือแบบจำลองการสร้างเมือง แบบจำลองการสร้างระบบพลังงาน โดยมีทั้งเพื่อใช้ในการวางแผนจริง และการใช้เป็นเกมส์เพื่อการเรียนรู้ที่จำลองภาพความเป็นจริงในปัจจุบันและในอนาคต
          ความท้าทายของการพัฒนาแบบจำลองที่สามารถปรับเปลี่ยนภาพอนาคตร่วมกันได้คือ การสร้างระบบข้อมูลพื้นฐาน ข้อกำหนดของผลกระทบ และค่าสัมประสิทธิ์ของผลกระทบในด้านต่างๆ อันเป็นที่ยอมรับกัน จากนั้นจึงนำแบบจำลองมาพัฒนาเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถเอื้ออำนวยต่อการปรับเปลี่ยนทางเลือกหรือแนวนโยบายร่วมกันในอนาคตได้





ภาพที่ 3 ตัวอย่างแบบจำลองผลกระทบจากการพัฒนาพลังงานในรูปแบบต่างๆ
ที่มา: Energyville by Chevron



ในทางปฏิบัติ การพัฒนาแบบจำลองที่สามารถปรับเปลี่ยนภาพอนาคตร่วมกันได้อาจจำเป็นต้องพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปตามรายกรณี โดยพิจารณาจากความจำเป็นในการใช้ประโยชน์และความพร้อมของข้อมูลและค่าสัมประสิทธิ์ของผลกระทบอันเป็นที่ยอมรับร่วมกัน เช่น อาจเริ่มต้นจากแบบจำลองสำหรับการวางผังเมืองหรือวางผังอนุภาค หรือการจัดการขยะสำหรับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือการจัดการพลังงานสำหรับแต่ละภูมิภาค เป็นต้น



                  4. การเชื่อมโยงปัจจัยที่กำหนดสุขภาพให้ครบถ้วน
 ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการประยุกต์ใช้ HIA ในประเทศไทยคือ การเชื่อมโยงปัจจัยที่กำหนดสุขภาพเข้าสู่การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ และเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพมักถูกวิพากษ์ถึงความแม่นยำของข้อมูลและของการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพที่จะตามมา ทำให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพในประเทศไทยที่ผ่านมายังคงโน้มเอียงไปทางสิ่งแวดล้อมเชิงกายภาพและชีวภาพมากกว่า การประเมินผลกระทบทางสุขภาพอย่างรอบด้าน ทั้งในเชิงสุขภาพจิต ในเชิงสังคม และในเชิงปัญญาหรือจิตวิญญาณ
ความไม่สมดุลดังกล่าว นอกจากจะมีผลต่อความครบถ้วนสมบูรณ์ของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพแล้ว ยังมีผลในการลดทอนน้ำหนักความสำคัญของเสียงเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่หรือในแต่ละกรณี ซึ่งไม่สามารถแปลงผลกระทบอันเนื่องการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางสังคมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของตน มาเป็นข้อมูลหลักฐานหรือข้อมูลตัวเลขที่แน่ชัดได้ ผลกระทบดังกล่าวจึงถือเสมือนว่าตกไปจากการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือ แม้ว่าจะระบุไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ แต่ก็ไม่มีน้ำหนักมากนักในการตัดสินใจของภาครัฐ
ความท้าทายของ HIA2.0 จึงอยู่ที่การพัฒนาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางสังคมและทางจิตวิญญาณ ซึ่งยังคงมีข้อมูลที่จำกัดมาก อย่างไรก็ดี พัฒนาการล่าสุดในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการสำรวจระดับความสุขของคนไทย และการสำรวจมิติความก้าวหน้าของคนไทยในพื้นที่ต่างๆ โดยการดำเนินการร่วมกัน ระหว่างกรมสุขภาพจิต สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญในการพัฒนาฐานข้อมูลเบื้องต้น และเครื่องมือสำหรับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพควบคู่ไปกับเครื่องมือการฉายภาพแห่งอนาคตร่วมกัน
          ดังนั้น ในระยะต่อไป การประเมินผลกระทบทางสุขภาพจึงจะต้องให้ความสำคัญกับการนำเสนอผลกระทบทางสุขภาพจากความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางสังคม (รวมถึงปัจจัยทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น) โดยการพัฒนาทั้งฐานข้อมูลและเครื่องมือในการประเมินผลกระทบดังกล่าว เพื่อให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพมีความครบถ้วนรอบด้านมากยิ่งขึ้น
          ขณะเดียวกัน การประเมินผลกระทบสุขภาพก็ต้องเชื่อมโยงมิติผลกระทบทางสุขภาพเข้าสู่เป้าหมายภาพรวมของการพัฒนา ซึ่งจำเป็นจะต้องพัฒนาและถูกกำหนดขึ้นโดยประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยอาจแสดงออกมาเป็นรูปดัชนีหรือตัวชี้วัดของการพัฒนาใหม่ (เช่น กรณีความสุขมวลรวมประชาชาติของประเทศภูฏาน) การเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายภาพรวมของการพัฒนากับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจะช่วยเพิ่มน้ำหนักความสำคัญของผลกระทบทางสุขภาพ ของปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ และของกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในสังคมไปพร้อมๆ กัน
5. การพัฒนาฐานข้อมูลที่โปร่งใสและพร้อมใช้งาน
ความพยายามของ HIA2.0 ในการสร้างเครื่องมือการฉายภาพอนาคต และการเชื่อมโยงปัจจัยกำหนดสุขภาพจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลสนับสนุนที่ดี โดยเป็นฐานข้อมูลที่มีข้อมูลผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยในมิติต่างๆ และจัดอยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งาน (นั่นคือ สามารถสนับสนุนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพของแต่ละกรณีได้อย่างทันท่วงที) และเป็นฐานข้อมูลที่สามารถสร้างความยอมรับร่วมกันของผู้คนในสังคมได้มากขึ้น
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การประเมินผลกระทบทางสุขภาพแต่ละกรณี ผู้ศึกษามักจะต้องเริ่มต้นจากการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง โดยไม่มีระบบหรือไม่มีคลังในการเก็บและสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ในกรณีอื่นๆ ดังนั้น การประเมินผลกระทบทางสุขภาพในแต่ละกรณีจึงจำเป็นต้องใช้เวลามาก และมักจะต้องการผู้เชี่ยวชาญในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพมักมีความล่าช้าออกไป
การสร้างระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิผลจึงต้องเน้นถึงความพร้อมใช้งานในการสนับสนุนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในแต่ละกรณีอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ลดระยะเวลาและต้นทุนในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพลง ทั้งนี้ การที่จะดำเนินการเช่นนั้นได้ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลจำเป็นต้องมีการวางแผนถึงลักษณะของการใช้งานไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะออกแบบให้สามารถข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ได้โดยทันที ตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบผลกระทบของทางเลือกในการจัดการขยะในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เนื่องจากโจทย์ประการหนึ่งของการพัฒนาระบบ HIA2.0 คือ การแสวงหาการยอมรับร่วมกัน นั่นย่อมหมายความว่า ฐานข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการประเมินผลกระทบก็จำเป็นจะต้องได้รับการยอมรับด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ การเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลจึงจำเป็นต้องทำอย่างเปิดเผยและเป็นระบบ คือ สามารถรับฟังเสียงสะท้อนเกี่ยวกับคุณภาพของข้อมูลและฐานข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง และควรกระทำก่อนที่จะมีการนำฐานข้อมูลนั้นไปใช้ในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในแต่ละกรณี เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดการไม่ยอมรับในชุดข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน



ภาพที่ 4 ตัวอย่างการพัฒนาระบบฐานข้อมูลผลกระทบโดยวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ด้วยโปรแกรม Sima Pro


พัฒนาระบบฐานข้อมูลจึงอาจจำเป็นต้องเป็นไปในระบบเปิดหรือระบบอาสาสมัคร (คล้ายกับ wikipedia) เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอและปรับปรุงฐานข้อมูล รวมถึงอาจจัดสัมมนา หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการในแต่ละด้าน หรือแต่ละประเด็น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ในฐานข้อมูล ซึ่งนอกจากจะช่วยกลั่นกรองคุณภาพของข้อมูล ช่วยทำให้เกิดการยอมรับในตัวข้อมูล และยังช่วยส่งเสริมให้มีการนำฐานข้อมูลนี้ไปใช้ในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพด้วย
6. ความเป็นเจ้าของในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ
ปัญหาที่พบในระยะที่ผ่านมาคือ เมื่อการประเมินผลกระทบทางสุขภาพถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ก็มีผลให้ความเป็นเจ้าของในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพถูกถ่ายโอนจากภาคประชาชน ไปสู่ภาครัฐ (ในฐานะผู้อนุมัติโครงการ) เจ้าของโครงการ (ในฐานะผู้ว่าจ้างให้มีการประเมินผลกระทบ) และบริษัทที่ปรึกษา (ในฐานะผู้ทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ) ส่วนภาคประชาชนก็เป็นเพียงผู้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพเท่านั้น
ดังนั้น การพัฒนา HIA 2.0 จึงจำเป็นต้องออกแบบให้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ (ทั้งทางบวกและทางลบ) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้สมกับการเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม
การพัฒนาเครื่องมือและฐานข้อมูลต่างๆ จึงจะต้องระมัดระวังไม่ให้กลายเป็นการลดทอนความเป็นเจ้าของในกระบวนการHIA ของชุมชนลงมา กระบวนการ HIA2.0 จึงควรเริ่มต้นจากสิทธิพื้นฐานของชุมชนในการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และความมุ่งหวังในทิศทางการพัฒนาของชุมชนเป็นตัวตั้ง ส่วนเครื่องมือต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นกันได้สะดวกขึ้น (รวมถึงสามารถปรับเปลี่ยนทางเลือกต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย) มากกว่าที่จะใช้เป็นคำตอบสำเร็จรูปในกระบวนการตัดสินใจที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
เมื่อเป็นเช่นนี้ เครื่องมือการประเมินผลกระทบทางสุขภาพที่เป็นกระบวนการของภาคประชาชนเอง เช่น การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน ก็ควรได้รับยกระดับอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน โดยควรมุ่งเน้นความเชื่อมโยงเป็นองค์รวม และความเป็นระบบในการเก็บรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล ไปพร้อมๆกันกับการเพิ่มพูนความสามารถในการสื่อความหมาย เพื่อให้เห็นถึงภาพอนาคตที่ชุมชนหรือประชาชนมุ่งหวัง (หรือห่วงใย) และสามารถแลกเปลี่ยนทิศทางความมุ่งหวัง (หรือความห่วงใย) ดังกล่าว ได้ทัดเทียมกับภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม
การสร้างระบบในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีต่างๆ ในการ HIA2.0 เช่น การทำงานระหว่างผู้จัดทำฐานข้อมูล ผู้พัฒนาเครื่องมือการฉายภาพอนาคต ภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ภาคส่วนอื่นๆ และหน่วยงานที่ตัดสินใจ จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย เพราะเป็นความท้าทายในระดับวัฒนธรรมที่จะสร้างกระบวนการประเมินผลกระทบและกระบวนการตัดสินใจที่หลายฝ่ายเป็นเจ้าของร่วมกัน แทนที่กระบวนการตัดสินใจที่มีภาครัฐเป็นจุดศูนย์กลางหลักเช่นที่ผ่านมา



สรุป HIA2.0
          การก้าวไปสู่ HIA2.0 จึงเป็นการก้าวย่างหรือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ไม่ว่าจะในเชิงกระบวนทัศน์ ในเชิงกระบวนการ และในเชิงวิธีการหรือเครื่องมือ
ในเชิงกระบวนทัศน์ HIA2.0 จะต้องเปลี่ยนจากกระบวนการตัดสินใจที่มีรัฐเป็นศูนย์กลาง เปลี่ยนเป็นกระบวนการตัดสินใจที่มีสังคมเป็นศูนย์กลาง โดยจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจตั้งแต่ต้นน้ำของการพัฒนา หรือตั้งแต่การวางแผนยุทธศาสตร์ในภาพรวม ในรายสาขา หรือในแต่ละพื้นที่ และปรับกระบวนการและเครื่องมือให้สนับสนุนการถกแถลง และเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในกระบวนการตัดสินใจ
ในเชิงกระบวนการ นอกจากจะต้องประยุกต์ใช้ HIA2.0 ในต้นน้ำของการพัฒนามากขึ้น ยังต้องนำเสนอทางเลือกในการพัฒนาอย่างชัดเจน และจะต้องทำให้ HIA เป็นกระบวนการที่ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สามารถเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของกระบวนการดังกล่าวได้อย่างมีความหมาย ด้วยกระบวนการที่แบ่งงานและประสานงานกัน ทั้งตั้งแต่ก่อนการทำ HIA (เช่น การจัดทำระบบฐานข้อมูลและเครื่องมือต่างๆ) และหลังการทำ HIA (เช่น การสื่อสารสู่สังคม และการผลักดันการตัดสินใจที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ)
ในเชิงเครื่องมือ HIA2.0 ต้องสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ด้วยการพัฒนาเครื่องมือที่จะใช้ร่วมกันในการฉายภาพอนาคต (ซึ่งจำเป็นมากสำหรับการวางแผนและการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ในต้นน้ำของการพัฒนา) และการเชื่อมโยงปัจจัยกำหนดสุขภาพให้ครบถ้วนและเชื่อมโยงกับเป้าหมายโดยรวมของการพัฒนา โดยมีความมุ่งหวังในการพัฒนาของประชาชนในแต่ละพื้นที่เป็นศูนย์กลาง รวมถึงต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่สามารถเรียกใช้งานได้สะดวก และเป็นที่ยอมรับเพื่อสนับสนุนให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพสามารถมาประยุกต์ใช้ได้อย่างทันการณ์
แท้จริงแล้ว การพัฒนารายประการใน HIA2.0 ได้เริ่มขึ้นแล้วในปัจจุบัน ด้วยการดำเนินการขององค์กรต่างๆ รวมถึงกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้น HIA2.0 จึงมิใช่เรื่องใหม่ถอดด้าม หากแต่เป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดและจุดเน้นของการใช้ HIA ในประเทศไทย เพื่อให้การใช้ HIA ในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมนั้นมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการและเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้ HIA สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้แต่ละฝ่ายได้แลกเปลี่ยนแนวคิด ทางเลือก ความมุ่งหวัง และความห่วงใยของตนได้ดียิ่งขึ้น
HIA2.0 จะปรากฏเป็นจริงได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาเครื่องมือ ฐานข้อมูล กระบวนการ และกระบวนทัศน์เหล่านี้ขึ้นมา ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งของการพัฒนาในสังคมไทยมีแนวโน้มที่จะเขม็งเกลียวมากขึ้นทุกขณะ
ความมุ่งหวังสูงสุดของ HIA2.0 คือ การเป็นกระบวนการที่สามารถช่วยให้ภาคส่วนต่างๆของสังคมค้นหาและพัฒนาคำตอบที่ดีต่อสุขภาพ และดีต่อการพัฒนาในมิติอื่นๆ รวมถึงเป็นที่ยอมรับ และเป็นแนวทางประสานพลังของภาคส่วนต่างๆของสังคมอย่างแท้จริง  


วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

HIA2.0: ความท้าทายใหม่ในสังคมไทย (1)

           นับจากปีพ.ศ. 2544 ที่คำว่า HIA หรือ Health Impact Assessment (การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ) ได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน HIA ก็มีอายุ10 ขวบปีเข้าไปแล้ว
          ช่วง 5 ปีแรกของ HIA ในประเทศไทยเริ่มต้นจากการพัฒนาองค์ประกอบทางวิชาการในหลายด้านๆ ทั้งการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับต่างประเทศ การจัดทำคู่มือและแนวทางการทำ HIA การพัฒนานักวิจัยและนักวิชาการ รวมถึงนักวิชาการชาวบ้าน และการจัดทำกรณีศึกษาเกือบ 100 กรณี ทั้งที่ดำเนินการโดยนักวิจัยและนักวิชาการชาวบ้าน และหลายกรณีก็นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน
          กระแสความสนใจของ HIA ในสังคมไทย มาพุ่งขึ้นอีกครั้งในปีพ.ศ. 2550 เมื่อ HIA ได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของพรบ.สุขภาพแห่งชาติ และต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550  HIA ก็กลายเป็นส่วนสำคัญของมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเป็นกระบวนการหนึ่งที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการ ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง
             เหรียญสองด้านของHIA1.0

          ปัจจุบัน ประเทศไทยถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพียงไม่กี่ประเทศที่มีการพัฒนา HIA ขึ้นมา ทั้งทางวิชาการ ทางปฏิบัติการ และทางกฎหมาย จนกระทั่งถึงขั้นบรรจุอยู่ในกฎหมายสูงสุดของการปกครองประเทศ
ภาพ: www.oknation.net/blog/print.php?id=419239
          อย่างไรก็ดี การใช้ HIA ในประเทศไทยก็มิได้เป็นไปอย่างราบรื่น เหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะในช่วงแรก HIA ถูกวางให้เป็น กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ในการหาทางออกทางนโยบายที่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งก็ได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่ภาคประชาชนก็ไถ่ถามว่า HIA ที่เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะนำไปสู่การตัดสินใจของภาครัฐได้อย่างไร
แต่เมื่อ HIA ได้ถูก ยกระดับ ขึ้นเป็น กระบวนการอนุมัติ/อนุญาตของภาครัฐ ตามที่ภาคประชาชนเคยวาดหวังไว้ HIA ก็กลับถูกตั้งคำถามใหม่ เพราะแม้ว่าเรามีการทำ HIA ตามมาตรา 67 มาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ภาคเอกชนก็ยังไถ่ถามถึงวิธีการมาตรฐานที่ชัดเจนของการประเมินผลกระทบ เพื่อให้เอกชนทราบว่าหากดำเนินการตามนี้แล้วจะผ่านการพิจารณาทันที
ในทางตรงกันข้ามภาคประชาชน ก็อยากให้นำเอาความห่วงใย และภาพความมุ่งหวังของตนซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ (เช่น ความต้องการที่จะรักษาวิถีชีวิตของตนเอาไว้) ไปใส่ลงใน HIA และได้รับการยอมรับจากภาคส่วนอื่นๆ ในขณะที่ภาครัฐและภาคเอกชนบางส่วนมองว่า ความห่วงใยและเจตจำนงของประชาชนเหล่านั่นคือ ความรู้สึก ที่มิใช่ข้อมูลหลักฐานที่ดีพอสำหรับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ
ส่วนภาครัฐที่อยู่ตรงกลางระหว่างทั้งสองฝ่าย ก็ยังไม่สามารถแหวกวงล้อมของฝ่ายต่างๆ ที่เห็นแตกต่างกันออกมาได้ เพราะลำพังที่ภาครัฐจะต้องจัดระบบข้อมูลพื้นฐานที่ตนมีอยู่ (หรือควรมีอยู่) เพื่อรองรับกับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ก็ใช้ทรัพยากรของรัฐ (โดยเฉพาะบุคลากรทางสาธารณสุข) ของภาครัฐไปจนเกือบหมดสิ้นแล้ว ภาครัฐจึงไม่มีแรงเหลือพอที่จะนำพาสังคมไปสู่สภาวะใหม่ที่จะตกลงเรียนรู้และตัดสินใจร่วมกันได้
ปัญหาอยู่ที่วิธีคิดแบรวมศูนย์
หากจะวิเคราะห์ในเชิงกระบวนการนโยบายสาธารณะ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ HIA นั้นสืบเนื่องมาจากการที่สังคมไทยของเรายังคงยึดติดอยู่กับการตัดสินใจที่รัฐเป็นศูนย์กลาง (หรือ state-centered approach) เราจึงมุ่งหน้าตีกรอบกติกาการตัดสินใจของรัฐให้เป็นไปในทางที่จะรักษาสิทธิหรือเอื้อประโยชน์ของตน เช่น พยายามบอกว่า การประเมินผลกระทบควรใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้น หรือพยายามที่จะหยุดโครงการนี้ให้ได้ โดยมิได้คำนึงถึงความรู้สึกร่วมกันของภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม ว่าจะยอมรับการตัดสินใจดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเราเชื่อว่าหากรัฐตัดสินใจในทางที่เราต้องการ รัฐก็จะมีอำนาจให้ทุกฝ่ายต้องดำเนินการตามนั้น
อย่างไรก็ดี ภาวะอำนาจนำของรัฐที่เรามุ่งหวัง (ไม่ว่าจะเป็นไปในทางใด) ไม่ได้มีมากมายอย่างที่เราเข้าใจ ด้วยบริบทหลายด้านที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะบริบททางการเมืองที่เปิดพื้นที่ให้แก่ประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ มากขึ้น และการที่รัฐไม่สามารถสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนได้ ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินการของรัฐเอง หรือความย่อหย่อนในการควบคุมการดำเนินการของภาคเอกชน ทำให้อำนาจนำและความชอบธรรมของภาครัฐในการตัดสินใจถูกกัดกร่อนไปมาก
ตัวอย่างเช่น แม้ว่า ภาครัฐโดยรัฐบาลที่ผ่านมา จะบอกว่ายกเลิกแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ตามที่ประชาชนเรียกร้อง แต่การดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน ท่าเรือ หรือนิคมอุตสาหกรรมก็ยังเดินหน้าต่อไป
หรือในทางตรงกันข้าม เมื่อรัฐบาลที่ผ่านมา ประกาศแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (หรือแผนพีดีพี) แต่ในที่สุด รัฐบาลก็ไม่สามารถเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนดังกล่าวได้ เนื่องจากต้องเผชิญเสียงคัดค้านจำนวนมากจากประชาชนในพื้นที่
เมื่อเป็นเช่นนี้ หากเรา (ไม่ว่าเราในที่นี้จะเป็นใคร) ยังคงมุ่งหน้าที่จะเข้าไปยึดกุมอำนาจการตัดสินใจของรัฐด้วยกระบวนการต่างๆ เราก็จะไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ เวทีต่างๆ ที่วางไว้เป็นกระบวนการตัดสินใจของรัฐ (รวมถึงในมาตรา 67 วรรค 2) ก็คงหลีกไม่พ้นที่กลายเป็นเวทียื้อยุดระหว่างฝ่ายที่เดินหน้าและฝ่ายที่คัดค้านโครงการ และผลลัพธ์ของกระบวนการตัดสินใจของรัฐก็คือ คำถามที่ยังคาใจต่อความชอบธรรมของกระบวนการตัดสินใจของภาครัฐ เช่น เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกก็ยังมีคำถามคาใจต่อการพิจารณารายงานEIA ของโครงการที่มาบตาพุด ส่วนผู้ประกอบการที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงก็ตั้งคำถามต่อความชอบธรรมในคำสั่งปิดกิจการการขนถ่ายและขนส่งถ่านหินของจังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น
ภายใต้สถานการณ์นี้ HIA ที่เราทำขึ้นก็จะยังคงตกอยู่ในวังวนของการแย่งชิงความชอบธรรมของการตัดสินใจของรัฐ และไม่ว่าเรา (เช่นเคย ไม่ว่าเราในที่นี้จะเป็นใคร) จะทำ HIA ได้ดีเพียงไร HIA ของเราก็ไม่วายจะถูกตั้งคำถามจากอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมีจุดยืนที่แน่ชัดอยู่แต่แรกแล้ว ในที่สุด HIA ก็ไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม
         ดังนั้น แทนที่เราจะยังใช้ HIA เป็นเครื่องมือในการยึดกุมการตัดสินใจของรัฐ ภายใต้มุมมองที่รัฐเป็นศูนย์กลาง เราควรจะปรับเปลี่ยนมุมมองของเราไปสู่กระบวนการตัดสินใจที่สังคมเป็นศูนย์กลาง (หรือ society-centered approach) แทน และนี่คือ จุดเริ่มต้นของ HIA2.0 หรือ HIA เวอร์ชั่นใหม่ที่มีสังคมเป็นศูนย์กลาง

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ง่าย งาม งอกเงย กับคนตัวเล็กๆ ที่บางมูลนาก




ง่ายๆ เพียงคิด แล้วลงมือ
กล่องต้มอาหารจากเศษฟิวเจอร์บอร์ด
จากกิจกรรมเล็กๆ ในชั่วโมงเรียนของเด็กๆ โรงเรียนเทศบาล ๑ บางมูลนาก สถานศึกษาระดับประถม ขนาดกะทัดรัด 156 คน แห่งอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ที่ได้ปลูกฝังนักเรียนตัวน้อย ให้รู้ค่าของ “ขยะ” ของที่ใครๆ ก็เบือนหน้าหนี ให้กลายมาเป็นของมีค่า จนเด็กๆ อดใจไม่ได้ที่จะต้องนำขยะติดไม้ติดมือจากบ้าน มาโรงเรียนด้วย เพื่อแปลงเป็นเงินฝากของตัวเองใน “ธนาคารขยะ”
จุดเริ่มต้นแบบเล็กๆ เช่นนี้ นอกจากจะทำให้นักเรียนสามารถมีเงินออมของตนเองแล้ว ยังนำไปสู่กิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายที่มาจากการแปลงร่าง “เศษขยะ”  แบบง่ายๆ แต่ใช้งานได้ดี ยกตัวอย่างเช่น กล่องหุงต้มอาหารพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีดีกรีถึงแชมป์นวัตกรรมพลังงานเยาวชนระดับภาคเหนือ ด้วยราคาต้นทุนไม่ถึง 100 บาท  


นวัตกรรมจากเศษเหลือทิ้ง
อ.วรันธร บุญก๊อก ผู้ริเร่มโครงการ
การเริ่มต้นกิจกรรมธนาคารขยะ มาจนถึงกิจกรรมด้านพลังงานของโรงเรียน งานนี้ได้ศิษย์เก่ารุ่นแรกๆ อย่างอาจารย์ วรันธร บุญก๊อก ผู้ซึ่งมีโอกาสได้ร่ำเรียนวิชาจากวิทยาลัยพลังงานทดแทน จ.พิษณุโลก บวกด้วยความมุ่งมั่น และมุ่งหวังให้ยากให้เด็กๆ ได้มีโอกาสในการเรียนรู้นอกเหนือจากตำราเรียน และมีประสบการณ์ชีวิตหลากหลายด้าน จึงตั้งใจสอน และริเริ่มกิจกรรมเกี่ยวกับพลังงาน และการเกษตร
จนบัดนี้มีเทคโนโลยีพลังงานที่หลากหลายรูปแบบ พร้อมตอบโจทย์ของการทำเกษตร โดยร่วมมือกับครูและเด็กนักเรียน ที่พร้อมอวดโฉม และชวนให้ร่วมเรียนรู้ ในนามของศูนย์การเรียนรู้และเผยแพร่พลังงานทางเลือก ขอเตือนไว้ก่อนว่าหากมีเวลาไปเยี่ยมที่นี่ไม่ถึงครึ่งวัน ควรหาวันว่างไปใหม่ เพราะแต่ละฐานกิจกรรมมีเรื่องเล่าและการสาธิตที่น่าเรียนรู้มากมายไม่ต่ำกว่า 10 ฐาน
เริ่มต้นจากการทำถ่านอัดแท่งกันก่อน เนื่องจากในพื้นที่ตำบลบางมูลนากมีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลายอย่าง เช่น แกลบดำ ซังข้าวโพด กากอ้อย โดยรวบรวมจากครัวเรือนของนักเรียน คนในชุมชน และโรงสีต่างๆ โดยรับซื้อผ่านธนาคารขยะของโรงเรียน สำหรับใครที่ต้องการถ่านคุณภาพดีให้ความร้อนสูง อยู่ได้นาน ต้องมาลองนวดส่วนผสมถ่านพร้อมกับเด็กๆ พร้อมกับอัดให้เป็นแท่ง ตากให้แห้ง เท่านี้ก็ถือกลับบ้านได้สบาย แต่เยาวชนไทยไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะเด็กๆ กำลังคิดหาสูตรของถ่านอัดแท่งชนิดไล่ยุง ทีนี้จะปิ้งย่างอะไรที่ไหน ยุงร้ายก็ไม่มากวน (อาจจะตีตลาดยากันยุงได้) ส่วนตัวเครื่องอัดถ่านตอนนี้ก็ยังทำยอดขายได้อีกในราคาชุดละ 100 บาท
ถัดมาจะขอบอกว่าน้ำร้อนที่นำมาผสมถ่านอัดแท่ง มาจากเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ตั้งรอรับแสงแดดอยู่ น้ำที่ได้อุณหภูมิประมาณ 70 องศา ร้อนพอทำให้ไข่สุกได้สบายๆ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีอีกหลายนวัตกรรม ได้แก่ เครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบอบสมุนไพร และแบบอบกล้วย ที่เห็นกับตาว่าเด็กๆ ยืนกลืนน้ำลายอยู่ข้างเครื่องอบกล้วย พร้อมกับบอกว่า “มันอร่อยมาก” แต่ที่การันตีได้ว่าอร่อยจริงคือ ตากยังไงก็ไม่พอขายซะที เพราะโดนกินไปหมดซะก่อน 
ถึงตาของเตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูงกันบ้าง เตานี้สามารถผลิตถ่านที่มีประสิทธิภาพสูง ไร้ควัน ติดทนนาน ไฟแรง จนมีคนมาขอซื้ออย่างเป็นประจำ ที่สำคัญน้ำส้มควันไม้ที่ได้ ก็นำไปเป็นสารไล่แมลงในแปลงเกษตรได้เป็นอย่างดี
มาถึงระบบก๊าซชีวภาพขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่เริ่มเติมมูลสัตว์จนแก๊สเริ่มขึ้นแล้ว และพร้อมที่จะให้แม่ครัวของโรงเรียนนำเศษอาหารมาเติม แล้วนำแก๊สไปใช้ทำอาหารได้ต่อ งานนี้เราได้นวัตกรรมใหม่ ในการออกแบบตัวครอบถังเก็บก๊าซที่ช่วยประคองถังมิให้หลุดตก และมีความยืดหยุ่น ยกขึ้นพร้อมกับการลอยตัวของถังได้อัตโนมัติ
นอกจากนี้ยังมีจักรยานสูบน้ำ พลังนักเรียน ที่สูบน้ำจากบ่อเลี้ยงปลา มารดสวนผักริมคลอง งานนี้สารวัตรนักเรียนคนเก่งคงได้ผอมก่อนเรียนจบเป็นแน่
กิจกรรมบ่มเพาะประสบการณ์ของนักเรียนและผู้ปกครอง ยังมีอีกหลายอย่างที่ไม่ได้กล่าว เช่น การเพาะเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา ซึ่งสามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ ดูทั้งหมดแล้วคาดว่าจะมีอีกหลายกิจกรรมที่ต่อยอดโดยอาศัยหลักการของความง่าย ให้ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง


งดงาม เบิกบานใจ
จุดสาธิตกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนสร้างประโยชน์ให้แก่นักเรียน รวมถึงคนในชุมชนให้เข้ามาร่วมเรียนรู้ โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ นอกจากคุณครูหลายๆ ท่าน งานนี้ “ตาเหน่ง” ที่เด็กๆ เรียก หรือ คุณสุรศักดิ์ สิงห์มี ช่างรับจ้างทั่วไป ที่เริ่มมารับจ้างทำเตาเผาถ่าน ทำเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เรื่อยมาจนครบเกือบทุกเทคโนโลยีที่มีอยู่ ล้วนเป็นผลมาจากฝีมือและการให้คำปรึกษาของช่างเหน่ง ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็น “ช่างใหญ่” ประจำศูนย์เรียนรู้ฯ และด้วยเห็นถึงประโยชน์ของการใช้พลังงานหมุนเวียนรอบตัว จึงเกิดความชอบและอยากเรียนรู้เพิ่มเติม ช่างเหน่งจึงชวนภรรยาหรือ คุณสายฝน และลูกมาร่วมกิจกรรมด้วย ตอนนี้คุณสายฝนกลายเป็นวิทยากรที่มีทั้งฝีมือ และถ่ายทอดได้เป็นเยี่ยม

เด็กๆ เองก็เช่นกัน แม้แต่ละชั้นเรียนจะมีนักเรียนจำนวนน้อย เช่น พี่ป. 6 มีทั้งหมด 17 คน ต่างผลัดกันมาเป็นแกนนำในการทำกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ฯ แถมยังต้องทำกิจกรรมอีกเกือบทุกอย่างของโรงเรียน ทั้งนาฏศิลป์ กีฬา แข่งทักษะ แต่ก็ยังมีน้ำใจที่งดงาม มาเข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมของศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อให้คุณพ่อ คุณแม่ได้รับโอกาสเรียนรู้แบบลูกๆ บ้าง เช่นเดียวกันกับวันที่พวกเราไปเยี่ยม น้องๆ ก็เสียสละเวลามาเป็นวิทยากรตัวน้อยอธิบายหลักการ และประโยชน์ของแต่จะจุดสาธิตให้ฟัง จนครบทุกจุด ทำเอาทั้งเราทั้งน้องได้ทวนความรู้กันจนเต็มอิ่ม ประมาณว่าถ้ารีบไปทำข้อสอบคงได้เต็มกันแน่ๆ
"ช่างเหน่ง ลุงสุเทพ และพี่สายฝน(จากซ้ายไปขวา) จากผู้ปกครองมาเป็นวิทยากร"

ส่วนหนึ่งของผลงานที่น่าประทับใจของเด็กๆ คือ สามารถชวนพ่อ แม่ ญาติ มาร่วมกิจกรรมได้ จนบางรายขอมาร่วมเรียนรู้จนกลายเป็นวิทยากรประจำศูนย์ อย่างคุณลุงสุเทพ  จันทร์นิธิ เจ้าของร้านลูกชิ้นปิ้งรายใหญ่หน้าโรงเรียน ที่เกิดติดใจถ่านจากเตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูง คุณลุงบอกว่า “เป็นถ่านที่ไร้ควัน ติดทนนาน แต่ไฟแรงมาก แรงจนทำให้ลูกชิ้นไหม้ ระยะหลังเลยมาซื้อเศษถ่านไปใช้แทน ก็ยังใช้ได้ดี ที่สำคัญ ดีต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการสนับสนุนกิจกรรมดีๆ สำหรับเด็กๆ ด้วย”
สำหรับผู้ที่มีอุปการะคุณอีกท่าน คือคุณป้าพิกุล  โรจน์วิชัย เจ้าของที่ดินบริเวณศูนย์การเรียนรู้ฯ แต่ดั้งเดิม ปัจจุบัน คุณป้ามาร่วมกิจกรรมของศูนย์เสมอ ทั้งยังเป็นร่วมเป็นวิทยากร ช่วยดูแลสถานที่ คุณป้าบอกว่า “รู้สึกมีความสุขที่ได้ทำประโยชน์ให้เด็กๆ และสังคม”
การมาเยี่ยมเยือนศูนย์การเรียนรู้และเผยแพร่พลังงานทางเลือก ที่โรงเรียนเทศบาล ๑ บางมูลนากในครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่เห็นตลอดการพูดคุยคือ รอยยิ้ม ของคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคุณครู เด็กนักเรียน และผู้ใหญ่ใจดีที่เห็นคุณค่าของศูนย์แห่งนี้ ทราบได้แน่นอนว่าเป็นรอยยิ้มที่เกิดจากการร่วมประสบการณ์ดีๆ ที่ทุกคนสร้างร่วมกัน หรือจะเรียกว่าเป็นศูนย์รวมใจของทุกฝ่ายเลยก็ว่าได้

"ป้าพิกุล ผู้เอื้อเฟื้อที่ดินให้เด็กๆ ได้มีศูนย์เรียนรู้ฯ" 

การมาเยี่ยมเยือนศูนย์การเรียนรู้และเผยแพร่พลังงานทางเลือก ที่โรงเรียนเทศบาล ๑ บางมูลนากในครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่เห็นตลอดการพูดคุยคือ รอยยิ้ม ของคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคุณครู เด็กนักเรียน และผู้ใหญ่ใจดีที่เห็นคุณค่าของศูนย์แห่งนี้ ทราบได้แน่นอนว่าเป็นรอยยิ้มที่เกิดจากการร่วมประสบการณ์ดีๆ ที่ทุกคนสร้างร่วมกัน หรือจะเรียกว่าเป็นศูนย์รวมใจของทุกฝ่ายเลยก็ว่าได้

งอกเงย กระจายผล
การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และเผยแพร่พลังงานทางเลือกที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง จนขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วม และร่วมสนับสนุน ได้แก่ เทศบาลตำบลบางมูลนากที่กำลังนำเรื่องศูนย์เรียนรู้พลังงานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการทำแผนเทศบัญญัติ  ทางด้านวิชาการวิทยาลัยพลังงานทดแทน ม.นเรศวร ได้เชิญให้เป็นศูนย์การเรียนรู้พลังงานชุมชน โดยร่วมกับโรงเรียน และสำนักงานพลังงานจ.พิจิตร
ปัจจุบันศูนย์ฯพร้อมให้ความรู้ และเปิดอบรมให้แก่ผู้สนใจ โดยเริ่มมีผู้ปกครองมาร่วมอบรม และมาร่วมกิจกรรมหลังจากฝึกอบรมหลายราย ทั้งหลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรเป็นฝึกปฏิบัติ และกำลังเนื้อหอมมีสื่อมาขอสัมภาษณ์หลายแห่งเช่นกัน
ความท้าทายสำคัญของศูนย์ฯ และทีมงานต่อไปก็คือ ระบบการจัดการบริหารศูนย์ฯ ให้ดำเนินการได้เองอย่างต่อเนื่อง เพราะแน่นอนว่ากิจกรรมของศูนย์ฯ ต้องมีการขยายตัวเพิ่ม อาจต้องรองรับผู้สนใจมากขึ้น หรือในแง่ของการบริหารทุน จะมีรูปแบบในการลงทุนของศูนย์อย่างไร เพราะขณะนี้เริ่มมีกระแสรายรับทยอยเข้ามาบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นตัวอย่างของพลังเล็กๆ ของคนเล็กๆ ที่นำของใกล้ตัว แม้กระทั่งของเหลือใช้ มาประดิษฐ์แบบง่าย แต่เกิดพลังที่งดงามแก่ผู้ที่ได้ร่วมทำ และผลจากกิจกรรมที่สร้างสรรค์เหล่านี้ จึงเกิดการงอกเงยไปสู่ความร่วมมือของเครือข่ายต่างๆ ซึ่งน่าจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน และสังคมได้ด้านอื่นๆ ได้อีกอย่างต่อเนื่อง                
ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ...


ขอขอบพระคุณคณะอาจารย์โรงเรียนเทศบาล ๑ บางมูลนาก ที่นำพากิจกรรมดีๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้น

ขอบพระคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มอบโอกาสในการทำกิจกรรมดีๆ จนเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ ขึ้นได้
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์วรันธร  บุญก๊อก โรงเรียนเทศบาล ๑ บางมูลนาก
อีเมล์ warunthorn_b@hotmail.com