วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554







สวัสดี สวัสดี  แล้วก็สวัสดีค่ะ ขอสวัสดีผู้อ่านทุกท่านที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมนิตยสารของเรา อาจจะผิดธรรมเนียมของบทบรรณาธิการไปสักหน่อยที่เพิ่งจะโผล่มาตอนนี้ ปล่อยให้คนอ่านสงสัยอยู่ว่านิตยสาร “สาระ-ทุกข์-สุข-ดิบ” เป็นใครกันแน่




ตอนนี้ได้เวลาเฉลยแล้วค่ะว่าเราเป็นใครกัน... 

นิตยสาร”สาระทุกข์-สุข-ดิบ” ถือกำเนิดขึ้นมาจากกลุ่มคนทำงานในองค์กรเล็กๆ ที่ชื่อว่า “มูลนิธินโยบายสุขภาวะ” หรือ “มนส.“  พวกเราทำงานวิชาการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ในประเด็นต่างๆ อาทิ นโยบายพลังงาน พลังงานทางเลือกในชุมชนอุตสาหกรรม เกษตรกรรมยั่งยืน การปรับตัวเพื่อรับมือกับโลกร้อน รวมถึงการพัฒนาดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าที่แท้จริง 

ด้วยความที่เราทำงานวิชาการหลากหลายประเด็นและหลากหลายรูปแบบ ทำให้มีโอกาสประสบพบเจอเรื่องราวต่างๆ มากมายในระหว่างการทำงาน ทั้งเรื่องทุกข์ สุข เศร้า เคล้าสาระความเป็นมาเป็นไปของโลกใบนี้  พวกเราจึงอยากจะใช้พื้นที่บนโลกออนไลน์แห่งนี้แบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ให้กับคนอื่นๆ ในสังคมบ้าง

นี่แหล่ะค่ะ คือที่มาที่ไปของนิตยสารออนไลน์ที่ท่านกำลังเปิดอ่านอยู่ และเราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องเล่าจากกลุ่มคนเล็กๆ จะมีส่วนช่วยสร้างสรรค์การเรียนรู้ร่วมกันในสังคมไม่มากก็น้อย หากผู้อ่านท่านใดมีเรื่องเล่าดีๆ ก็อย่าลืมมาแบ่งปันกันบ้างนะคะ เพราะเราเชื่อว่าการแบ่งปันคือจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างสังคมที่ดีกว่าร่วมกัน
"โฉมหน้าทีมงานสาระ-ทุกข์-สุข-ดิบ"
ติดตามผลงานวิชาการของพวกเราเพิ่มเติมได้ที่เวบไซด์ www.npithailand.com และ www.energygreenhealth.com  นอกจากนี้ ท่านยังสามารถเข้าไปทักทายและร่วมติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook ของนิตยสารสารสาระ-ทุกข์-สุข-ดิบ แล้วอย่าลืมแวะไปเยียมเยียนพวกเราบ้างนะคะ ฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่ะ

Jthunyaporn_s@yahoo.com





วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

พ่อเอี่ยมแห่งบ้านดงยาง: นักประดิษฐ์นวัตกรรมสู้โลกร้อน





"พ่อเอี่ยม" แห่งบ้านดงยาง
ท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงขึ้นทุกขณะ และภัยพิบัติที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ทั่วทุกมุมโลกกำลังพยายามหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ หลายฝ่ายเฝ้ารอการประชุมข้อตกลงวางแผนในระดับนโยบายร่วมกันทั่วโลก ในขณะที่สถานการณ์ต่างๆที่เป็นผลจากโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนทุกคนแล้ว
โดยเฉพาะ ภาคการเกษตรที่ต้องพึ่งพาอาศัยฝนฟ้าอากาศจากธรรมชาติในการเพาะปลูกพืชพันธุ์ อย่างที่เราได้เห็นจากข่าวสารที่นำเสนอในแต่ละวัน  ไม่ว่าจะเป็น ความแห้งแล้งในฤดูร้อน  น้ำท่วมในฤดูฝน  แมลงศัตรูพืชระบาด หรือ สภาพอากาศที่คาดเดาได้ยากไม่เป็นไปตามฤดูกาล สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ผลิตผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย แล้วผู้ที่แบกรับความเสี่ยงเหล่านี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากเกษตรกรเอง
ในขณะที่หลายๆคนยังรอคอยการแก้ไขในระดับนโยบายจากหน่วยงานภาครัฐ ยังมีเกษตรกรกลุ่มหนึ่งใน จ.ยโสธร ได้ร่วมมือกันลุกขึ้นมาต่อสู้และวางแผนรับมือกับสถานการณ์โลกร้อน และจากการร่วมกลุ่มกันครั้งนี้เอง ทำให้เกิดนักสู้กับการปรับตัวโลกร้อนขึ้นหลายต่อหลายคน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ พ่อเอี่ยม สมเพ็ง ผู้ที่ชอบเรียนรู้ ทดลองและประดิษฐ์สิ่งแปลกๆใหม่ๆ ที่นำมาใช้ในการรับมือกับโลกร้อน แห่งบ้านดงยาง ต.บากเรือ อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร

เกษตรอินทรีย์ผสมผสาน การปรับตัวของเกษตรกรในวันที่โลกร้อน
พ่อเอี่ยมเป็นชาวนามากว่า 30 ปีปลูกข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวบนที่นาประมาณ 20 ไร่แต่เดิมทำนาใช้สารเคมีเป็นหนี้เป็นสินบางปีฝนตกน้อย นาข้าวหว่านไปแล้วไม่ขึ้น บางปีน้ำท่วมหนัก ยังไม่ทันเกี่ยวข้าวก็จมน้ำ เป็นอย่างนี้สลับกันไปมาทุกปีโดยเฉพาะช่วงปีพ.ศ. 2549-50 ที่ฝนแล้งมาก อีกทั้งสุขภาพก็เสื่อมลงจากการใช้สารเคมี จนทำให้พ่อเอี่ยมคิดที่จะเลิกทำนา แต่เมื่อลองย้อนกลับไปทบทวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ทำให้พ่อเอี่ยมไม่รอช้า ลุกขึ้นมาปฏิวัติรูปแบบการทำนาใหม่
โดยสิ่งแรกที่ปฏิวัติคือการหันหลังให้กับสารเคมี และเปลี่ยนมาทำนาแบบเกษตรอินทรีย์แทน หลังจากได้เห็นพื้นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ และเสื่อมโทรมลง จนผลผลิตที่เคยเก็บเกี่ยวได้ลดลงไปมาก จากนั้นพ่อเอี่ยมก็เริ่มวางแผนทำนา โดยเอาประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งคอยบันทึกข้อมูลเรื่องฝนตกในแต่ละปี แต่ละวัน และวันละกี่ชั่วโมง ตลอด 10 ปีมาร่วมในการวางแผนทำนา เพราะใน จ.ยโสธร ยังมีระบบชลประทานน้อย ต้องรอฝนจากฟ้าเพียงอย่างเดียว เมื่อนำเอาข้อมูลเรื่องฝนตกมาวางแผนในการทำนา ทำให้คาดเดาได้ว่าฝนน่าจะเริ่มตกเมื่อไร แล้วต้องเริ่มหว่านกล้ารอฝนเมื่อใด
นาอินทรีย์ของพ่อเอี่ยม

           

ผักสวนครัวแหล่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร

นอกจากระบบเกษตรอินทรีย์ที่เป็นจุดเริ่มแล้วการปลูกพืชให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ผักสวนครัวผลไม้ และต้นไม้พื้นถิ่น ยังสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับพ่อเอี่ยมอีกด้วย เพราะถ้าปลูกข้าวไม่ได้ ก็ยังมีผัก ผลไม้ไว้ทานได้ ซึ่งนอกจากความอยู่รอดแล้ว การปลูกผัก ผลไม้เอง ก็ยังสร้างมั่นใจในการรับประทานอาหาร เพราะ มั่นใจได้ว่าไม่มีสารเคมีปนมาด้วย
แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ฤดูกาลค่อยๆเลื่อนออกไป จนคาดเดาได้ยากขึ้น และบ่อยครั้งที่พอฝนตกก็ตกไม่มาก หรือบางทีก็ตกหนักจนน้ำเยอะไป หากยังคงทำตามแผนเดิมจากข้อมูลที่เคยเก็บไว้ในอดีตคงไม่ได้แน่ แต่อย่างไรก็ตามพ่อเอี่ยมก็ตั้งใจว่า เราต้องปรับตัวเองให้อยู่ได้กับภาวะอากาศที่เปลี่ยนไป
สิ่งสำคัญของการเพาะปลูกคือระบบน้ำในไร่นา ซึ่งพ่อเอี่ยมได้ทำการขุดสระน้ำ 1 ไร่ และบ่อใต้ดิน กระจายในแปลงนา รวมประมาณ 8 แห่ง ซึ่งสระที่ขุดไว้นอกจากจะกักเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนไม่ให้ท่วมแปลงนา แล้วในช่วงหน้าแล้งยังได้นำน้ำออกมาใช้ ทำให้พ่อเอี่ยมสามารถจัดการน้ำในแปลงให้พอเพียงกับการเพาะปลูกตลอดทั้งปี แต่ในการสูบน้ำขึ้นมาใช้จากสระและบ่อใต้ดิน ก็เพิ่มต้นทุนให้กับพ่อเอี่ยมซึ่งต้องใช้น้ำมันในการสูบน้ำ และนี้ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่สร้างความท้าทายให้กับพ่อเอี่ยมในการคิดค้นวิธีการสูบน้ำ โดยไม่ต้องใช้น้ำมัน
จากการจัดการน้ำในแปลงเกษตร สู่นักประดิษฐ์พลังงานทำมือ

              หลังจากค้นคว้าหาวิธีการสูบน้ำแบบต่างๆ พ่อเอี่ยมก็มาคิดถึงทรัพยากรที่อยู่ใกล้ตัวเรา และไม่ต้องเสียเงิน เป็นของจากธรรมชาติ นั่นก็คือ ลม ซึ่งตั้งแต่โบราณก็มีการใช้ลมในการสูบน้ำอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นการทำนาเกลือ หรือการสูบน้ำในการเกษตร
              แต่โจทย์ต่อมาที่พบก็คือ ในพื้นที่มีลมอ่อนถึงปานกลาง แล้วลมอ่อนๆจะมีแรงพอที่จะสูบน้ำขึ้นมาได้หรือไม่ ซึ่งพ่อเอี่ยมได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆที่สนใจการทำกังหันลม ลองประดิษฐ์กังหันลมแบบต่างๆ โดยที่แต่ละคนจะมีแนวคิด และรูปแบบของกังหันลมที่แตกต่างกันไป เมื่อใครลองทำอะไร ก็จะนำมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและช่วยกันพัฒนาให้ดีขึ้น



กังหันลมสูบน้ำผู้ช่วยในการรับมือสภาวะอากาศแปรปรวน
             สำหรับพ่อเอี่ยมได้ลองทำกังหันลมแนวแกนนอน โดยใบพัดทำมาจากเศษวัสดุที่หาได้ง่าย ตั้งแต่ผ้า แผ่นโฆษณาหาเสียง จนแผ่นอลูมิเนียม ส่วนเพลาที่ใช้หมุนเพื่อนำไปสูบน้ำก็ดัดแปลงมาจากเครื่องเจียรบ้าง จักรยานบ้าง ซึ่งในการทดลองแต่ละครั้ง จากร้อยพันครั้ง พ่อเอี่ยมได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวสิ่งต่างๆเพิ่มเติม ไม่ว่าการทดลองนั้นจะสำเร็จหรือล้มเหลว และในที่สุดพ่อเอี่ยมก็สามารถพัฒนากังหันลมที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ของพ่อเอี่ยม และสามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้งานได้ในแปลงนาเป็นผลสำเร็จ 

นอกจากกังหันลมแล้ว พ่อเอี่ยมและเพื่อนๆในกลุ่มได้ร่วมเรียนรู้ถึงเรื่องของพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเราสามารถนำเอาสิ่งที่อยู่ใกล้ๆตัวมาแปลงเป็นพลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างเรื่องง่ายๆ เช่น ก๊าซหุงต้ม ที่พ่อเอี่ยมจึงได้ลองทำบ่อก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์และเศษอาหารในครัวเรือน โดยใช้บ่อหมักก๊าซรูปโอ่ง ขนาดประมาณ 2,200ลูกบาศก์เมตร ซึ่งการหันมาทำก๊าซชีวภาพใช้ ทำให้พ่อเอี่ยมลดการใช้ก๊าซถังหุงต้ม นอกจากนี้ยังช่วยกำจัดเศษอาหารที่เหลือ และกากที่ออกมาจากบ่อหมักก็ยังนำไปใช้เป็นปุ๋ยได้อีกด้วย
แม้การทำก๊าซชีวภาพใช้เองจะประสบความสำเร็จแล้ว แต่พ่อเอี่ยมก็ยังไม่หยุดคิดค้นและพัฒนาก๊าซชีวภาพ ซึ่งก๊าซชีวภาพที่ได้นั้นเมื่อนำจุดไฟ เปลวไฟจะค่อนข้างอ่อน เนื่องจากบ่อหมักก๊าซและห้องครัวอยู่ห่างกันประมาณ5เมตร ทำให้แรงดันก๊าซน้อย พ่อเอี่ยมจึงนำเอาหลักการของแอร์แวร์ ที่มีใช้ในการส่งน้ำให้ได้ไกลขึ้น มาประยุกต์ใช้ ทำให้เมื่อจุดไฟ เปลวไฟจึงแรงขึ้นตามความต้องการของแม่บ้าน

เตาก๊าซชีวภาพเสริมด้วยระบบแอร์แวร์เพื่อเพิ่มความแรงของเปลวไฟ
งานอดิเรก กับเศษฟางเงินล้าน
               นอกจากพ่อเอี่ยมจะเป็นนักประดิษฐ์แล้ว ยังมีความเป็นศิลปินในตัวด้วย เมื่อเสร็จจากงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำนา ทำสวน ดูแลสัตว์ และทดลองกังหันลมแล้ว ในเวลาค่ำคืนอันเงียบสงบ พ่อเอี่ยมจะเริ่มลงมือทำงานศิลปะ จากฟางข้าว ซึ่งมีทั้งความละเอียด ประณีตและความสวยงาม
             ซึ่งแต่ละรูปพ่อเอี่ยมใช้ฟางไม่ถึงหนึ่งกำมือ และบรรจงค่อยๆตัด ค่อยๆวางเศษฟาง ค่อยๆทากาว ลงบนแผ่นไม้ โดยมีการเน้นแสงและเงา มิติของภาพ ตลอดจนความกลมกลืนเสมือนจริง ทำให้มีคนสนใจและขอซื้องานศิลปะของพ่อเอี่ยม โดยรูปๆหนึ่ง จากเศษฟางไม่ถึงกำ สามารถทำเงินให้พ่อเอี่ยมได้เป็นหลักพัน แม้เป็นแค่เพียงงานอดิเรกก็สามารถสร้างรายได้ให้กับพ่อเอี่ยมได้เช่นกัน
            จากสถานการณ์โลกร้อนในปัจจุบัน การตั้งรับรอคอยทิศทางนโยบายจากฝ่ายวางแผนเพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถทำให้เรารับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างทันท่วงที หากแต่เราผู้ซึ่งรู้จักทรัพยากรและท้องถิ่นของเราเองดีกว่าฝ่ายวางแผนใด เริ่มวางแผนเพื่อรับมือโดยอาศัยความรู้ ประสบการณ์ที่มี และความพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนา โดยไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว หากแต่ผลักดันให้เป็นบทเรียนและความพยายามที่จะข้ามฝ่าอุปสรรคต่างๆ อย่างพ่อเอี่ยม เราก็จะสามารถปรับตัวและรับมือกับโลกร้อนได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
ศิลปะจากเศษฟางผลงานพ่อเอี่ยม
         
         



วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

คิดเล่นๆ(อาจ)เป็นจริงได้






เคยลองคิดเล่นๆ กันหรือเปล่าคะ...

วันนี้มีตัวอย่างการคิดเล่นๆ ที่น่าสนับสนุนให้เกิดการทำแบบจริงๆจังๆ ซะเหลือเกิน และคงต้องขอยกความดีความชอบให้นิตยสาร a day ที่ทำคอลัมน์ “ขอเปลี่ยน” เพื่อเปิดพื้นทีให้ผู้อ่านส่งไอเดียเจ๋งๆ คิดแบบทีเล่นทีจริง เปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างที่รู้สึกว่าไม่เข้าที อยากให้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือออกแบบใหม่ ไอเดียแบบทีเล่นทีจริงก็อาจจะเกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ผู้คนและสังคมได้



ใน a day  ฉบับล่าสุดเดือนส.ค. 54 มีผู้อ่านท่านหนึ่งเสนอให้มีการสะสมระยะทางสำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบขนส่งมวลชน หรือ Mileage Bus แบบที่ผู้โดยสารเครื่องบินเค้าสะสมไมล์เดินทางเพื่อแลกรับของสมนาคุณจากสายการบิน วันไหนที่แต้มครบเราก็อาจจะเอาแต้มนั้นไปแลกขึ้นรถเมล์ฟรี แถมเจ้าของความคิดนี้ยังแนะให้มีการต่อยอดเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนในรูปแบบอื่นๆ ทั้งรถไฟฟ้า รถตู้ หรือแม้แต่เรือโดยสาร เพื่อทำให้ผู้ที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนได้สนุกกับการสะสมแต้ม และยังเป็นการรณรงค์ให้คนหันมาใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้นด้วย

อ่านแล้วรู้สึกยังไงกันบ้างคะ ไอเดียทีเล่นทีจริงแบบนี้ โดนใจคุณผู้อ่านกันหรือเปล่า สำหรับผู้เขียน รู้สึกโดนใจกับไอเดียนี้อย่างแรงจนอยากจะกด Like ให้เลยทีเดียว เพราะการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชน นอกจากจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองกรุง ยังช่วยลดมลพิษบนท้องถนน ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอีกด้วย


ในขณะที่การโดยสารเครื่องบินใช้พลังงานและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) มากที่สุด แต่กลับมีรางวัลสมนาคุณให้ ยิ่งเดินทางมาก ยิ่งได้แต้มมาก ทั้งๆที่มันหมายถึงการปล่อยก๊าซ CO2 มากขึ้นด้วย แล้วทีเราๆ ท่านๆ ที่ช่วยกันใช้บริการระบบขนส่งมวลชน กลับไม่มีคะแนนสะสมหรือรางวัลให้(ซะงั้น)

คงจะดีไม่น้อยที่คุณค่าการใช้บริการรถสาธารณะสามารถแปลงกลับมาเป็นมูลค่าให้กับผู้ใช้บริการบ้าง เราคงรู้สนุกกับการนั่งรถเมล์มากขึ้น และอาจรู้สึกทนได้มากขึ้นกับการเบียดเสียดกันกับผู้โดยสารคนอื่นๆ เพราะเรารู้ว่าทุกๆ กิโลเมตรของการเบียดเสียดกันบนรถเมล์มันมีความหมายอย่างไรต่อเราและโลกของเราใบนี้

ถ้าจะคิดกันเล่นๆ แบบสุดๆ ไปเลยกับไอเดียนี้ ผู้เขียนขอเสนอว่า ของรางวัลจากการสะสมแต้มก็อาจจะเป็นมากกว่าการได้ขึ้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้าฟรี แต่อาจจะเป็นส่วนลดจากห้างร้านต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ เพราะตอนนี้ก็มีองค์กรธุรกิจหลายเจ้าที่ประกาศตัวว่าองค์กรสีเขียวที่พร้อมจะรักษ์โลกใบนี้ ร่วมด้วยช่วยกันหลายๆ ฝ่าย โลกของเราคงน่าอยู่ขึ้น

หากอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ลองมาช่วยกันคิดเล่นๆ ดูมั้ยคะว่าเราจะทำอย่างไรให้ไอเดียนี้ถูกส่งไปถึงผู้ใหญ่ของบ้านของเมืองที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องเหล่านี้ ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารการรถไฟฯ เรือเมล์ รถเมล์ รถไฟฟ้าBTS รถไฟฟ้า MRT แอร์พอร์ทลิงค์ หรือแม้แต่ผู้ว่าฯกทม. เพราะท่านเหล่านี้อาจจะมัวทำงานเพื่อบ้านเพื่อเมืองอย่างจริงจัง จนลืมคิดแก้ปัญหาจากมุมเล่นๆ ก็เป็นได้ คงต้องช่วยกันสักหน่อยค่ะ เผื่อท่านๆ เหล่านี้จะได้ยินสิ่งที่เราคิด(เล่นๆ)กันบ้าง



ถ้าไม่รู้จะเริ่มยังไง ลองคลิกบทความนี้เล่นๆ ส่งไปให้เพื่อนหรือคนที่รู้จักอ่านก่อนก็ได้ ไม่แน่นะคะ สิ่งที่เราๆ ท่านๆ คิดกัน ทำกันเล่นๆ แบบนี้ ก็อาจเป็นจริงได้ในซักวันนึง ใครจะจะไปรู้ :)


ขอขอบคุณ: คุณ ice-cream man เจ้าของไอเดีย Mileage Bus และคอลัมน์ขอเปลี่ยน นิตยสาร a day (ปีที่ 12 ฉบับที่ 132 เดือนสิงหาคม 2554) แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิดบทความนี้