วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

HIA2.0: ความท้าทายใหม่ในสังคมไทย (2)




โจทย์ใหม่ของ HIA2.0
          โจทย์ใหม่ของ HIA2.0 จึงอยู่ที่การใช้ HIA เป็นเครื่องมือสำคัญกระบวนการตัดสินใจที่สังคมเป็นศูนย์กลาง นั่นคือ HIA จะถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนได้เรียนรู้และเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ HIA2.0 จะต้องดำเนินการในประเด็นที่สำคัญ 6 ประเด็นด้วยกันคือ
1. การเริ่มที่ต้นน้ำของการพัฒนา
          หากแนวคิดของ HIA2.0 ที่มุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างจริงจังในสังคม จนสามารถนำไปสู่ข้อสรุปที่พอจะยอมรับ และปฏิบัติได้ได้ในสังคม เราคงจะต้องเรียนรู้และยอมรับในข้อจำกัดที่ผ่านมาคือ การนำเอา HIA ไปใช้ในช่วงปลายน้ำของการพัฒนา ซึ่งแต่ละฝ่ายมักจะปักใจเชื่อในแนวทางการดำเนินการหรือจุดยืนของตน เช่น ฝ่ายเจ้าของโครงการ ก็วิเคราะห์ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจนชัดเจนในใจแล้ว และในหลายกรณีก็ได้มีการลงทุนในโครงการนั้นไปล่วงหน้าแล้ว ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ตน (แทบ) มิได้มีส่วนกำหนดได้ ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงตามมา โดยที่เป็นการยากที่จะย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของการวางแผนหรือการตัดสินใจที่ว่า ทางเลือกและทิศทางของการพัฒนาควรจะเป็นไร
ดังนั้นหาก HIA ต้องการรักษาจิตวิญญานของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือการถกแถลงในสังคมเอาไว้ HIA2.0 จะต้องมุ่งสู่การเป็นเครื่องมือของกระบวนการวางแผนและการตัดสินใจในช่วงต้นน้ำของการพัฒนา หมายถึง ตั้งแต่การกำหนดยุทธศาสตร์หรือแผนการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์หรือการวางแผนภาพรวม ยุทธศาสตร์หรือการวางแผนรายสาขา หรือยุทธศาสตร์หรือการวางแผนเชิงพื้นที่ก็ตาม
เพราะแม้ว่าในจุดเริ่มต้น แต่ละฝ่ายอาจจะยังมีความมุ่งหวังและแนวทางการพัฒนาที่แตกต่างกัน แต่ตราบใดที่แต่ละฝ่ายยังคงมิได้พัฒนาความมุ่งหวังของตนไปสู่จุดยืน รูปแบบ หรือโครงการที่ชัดเจนและจำเพาะเจาะจง ตราบนั้นพื้นที่ของการเรียนรู้ และการทำความเข้าใจร่วมกันก็ยังคงเปิดกว้างมากกว่า การถกเถียงและความขัดแย้งที่แต่ละฝ่ายต่างมองเห็นผลประโยชน์หรือผลกระทบที่ตนจะได้รับจากการดำเนินโครงการลอยอยู่ตรงหน้า
อย่างไรก็ดี การประยุกต์ใช้ HIA ในระดับของการวางแผนยุทธศาสตร์ก็เป็นสิ่งที่มีการคาดหวังไว้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว (เรียกว่า มีตั้งแต่ HIA1.0) แต่ที่ผ่านมา การประยุกต์ใช้จริงในสังคมไทยยังคงจำกัดอยู่ เนื่องจากอุปสรรคที่สำคัญ 3 ประการคือ
ก)     บริบททางการเมือง เนื่องจากที่ผ่านบริบททางการเมืองยังคงเพ็งเล็งที่การตัดสินใจของภาครัฐ ในขณะที่ภาครัฐ โดยเฉพาะภาครัฐส่วนกลาง ยังคงมองการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเพียงสัญลักษณ์เพื่อสร้างความชอบธรรม มากกว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง ส่วนภาคประชาชนก็มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และยังไม่สามารถวิเคราะห์ช่องทางการมีส่วนร่วมและนำเสนอทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ของตนในกระบวนการตัดสินใจของภาครัฐอย่างมีความหมายได้ ซึ่งต่างจากการคัดค้านโครงการที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของภาครัฐโดยตรง (นั่นคือ การยืนยันที่จะไม่ให้โครงการเดินหน้า)
ข)     ความคลุมเครือของภาพของแนวทางการพัฒนาและผลกระทบที่ตนจะได้รับจากทางเลือกในระดับยุทธศาสตร์ เนื่องจากการวางแผนระดับยุทธศาสตร์มักจะยังไม่มีภาพผลประโยชน์หรือผลกระทบที่ชัดเจนเหมือนระดับโครงการ ซึ่งสามารถระบุผลประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนกว่า (เช่น ผลประโยชน์ก็อาจคำนวณได้ถึงขั้นอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ส่วนผลกระทบก็อาจถึงขั้นทำแบบจำลองของผลกระทบได้) ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับการวางแผนยุทธศาสตร์มักดูไม่ค่อยมีความหมายหรือมีความสำคัญหรือไม่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อเรียบเทียบกับการตัดสินใจในระดับโครงการ
ค)     ความคลุมเครือในจุดหมายของการพัฒนา นอกเหนือจากความคลุมเครือของภาพแนวทางการพัฒนาและผลกระทบแล้ว การวางแผนยุทธศาสตร์ในประเทศไทยยังขาดความชัดเจนของจุดหมายของการพัฒนา (ซึ่งมิได้จำเป็นต้องมีจุดหมายเดียว) ทำให้กรอบการวิเคราะห์ทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมยิ่งมีความคลุมเครือมากขึ้น เพราะไม่สามารถเทียบเคียงข้อดีและข้อด้อยของแต่ละทางเลือกได้ เนื่องจากเป็นข้อดีและข้อด้อยแต่ละข้อล้วนมีคุณค่าที่แตกต่างกัน และไม่สามารถเทียบเคียงกันได้โดยง่าย (เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ VS อัตลักษณ์หรือจิตวิญญาณของท้องถิ่น ที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้โดยตรง)
เพราะฉะนั้น การพัฒนา HIA2.0 จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นจากหาจุดเชื่อมต่อกับกระบวนการตัดสินใจในต้นน้ำหรือต้นทางของการพัฒนา และทำให้กระบวนการตัดสินใจนั้นเป็นกระบวนการถกแถลงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง ซึ่งกล่าวในหลักการแล้ว ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าก็ดี การกำหนดผังประเทศ ผังภูมิภาค หรือผังเมืองก็ดี ล้วนก้าวหน้าไปในทิศทางเดียวกัน จนทำให้กระบวนการตัดสินใจแบบรวบรัดของภาครัฐแทบจะหมดความชอบธรรม โดยเฉพาะในการสร้างความยอมรับของประชาชน
โจทย์สำคัญของ HIA2.0 จึงอยู่ที่ว่า เราจะสามารถยกระดับกระบวนการตัดสินใจแบบถกแถลงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เป็นกระบวนการที่ทุกภาคส่วน (รวมทั้งภาครัฐ) ยอมรับว่าเป็นกระบวนการที่รอบคอบ สร้างสรรค์ และเป็นธรรมมากกว่ากระบวนการตัดสินใจของภาครัฐที่เป็นอยู่ในอนาคตได้อย่างไร
2. การนำเสนอทางเลือกการพัฒนาในระดับยุทธศาสตร์
แม้ว่าการนำ HIA2.0 ไปใช้ในระดับต้นน้ำของการพัฒนาจะช่วยเปิดช่องสำหรับทางเลือกในการตัดสินใจและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก่อนการตัดสินใจมากขึ้น แต่การยกระดับการใช้ HIA2.0 เข้าสู่ต้นน้ำของการพัฒนาจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลย หาก HIA2.0 ไม่สามารถช่วยนำเสนอทางเลือกการพัฒนาในระดับยุทธศาสตร์ เพื่อให้สังคมพิจารณาได้ เพราะหากปราศจากทางเลือกที่ชัดเจนแล้ว ก็เป็นการยากสำหรับสังคมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และตัดสินใจร่วมกัน
HIA2.0 จึงไม่ใช่การนำ HIA ไปใช้ในการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหรือโครงการของภาครัฐเท่านั้น แต่ HIA2.0 จะต้องระดมความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ โดยภาคประชาชนหรือภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางรัฐ ให้ช่วยกันพัฒนาและเสนอทางเลือก ที่คิดว่าน่าจะเป็นผลดีมากกว่าให้สังคมได้ขบคิดและพิจารณา
การนำเสนอทางเลือกในการพัฒนาจึงเป็นการทำงานมิติใหม่ของภาคประชาชน ที่พัฒนาจากการนำเสนอจุดยืนและความห่วงใยของตน อันเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน ไปสู่การออกแบบแนวทางการพัฒนาใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางที่ต่อยอดมาจากจุดยืนเดิม หรือการสร้างสรรค์แนวทางการพัฒนาใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากแนวทางที่ภาครัฐกำหนดมา และน่าจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน
การสร้างทางเลือกของการพัฒนาจะเป็นการเปิดทางเลือกครั้งสำคัญสำหรับสังคมไทย ทำให้สังคมไทยพ้นจากภาวะความกังวลว่า ถ้าไม่ทำอย่างนั้น แล้วจะทำอย่างไร (เช่น ความกังวลว่าถ้าไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือนิวเคลียร์แล้วจะทำอย่างไร ไฟฟ้าจะดับหรือไม่) โดยการเสนอทางเลือกเพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบถึงผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ที่จะตามมาในแต่ละทางเลือก ซึ่งจะก้าวถึงในลำดับต่อไป
ที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่ภาคประชาชนสามารถนำเสนอทางเลือกในการพัฒนาเช่น ทางเลือกในการพัฒนาระบบการระบายน้ำในลุ่มน้ำท่าจีน หรือผังเมืองทางเลือกเพื่อสุขภาวะ หรือทางเลือกของแผนพลังงานในภาคใต้ เป็นต้น แต่ในอีกหลายกรณี ภาคประชาชนก็ยังไม่สามารถนำเสนอทางเลือกการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมได้ ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาทางเลือกเหล่านี้ต่อไป
ภาพที่ 1 ตัวอย่างการสร้างทางเลือกในการพัฒนา กรณีผังเมืองทางเลือก
ที่มา: มูลนิธินโยบายสุขภาพ; ฝัน ร่าง สร้าง ทำ
                3. การพัฒนาเครื่องมือการฉายภาพอนาคตร่วมกัน
อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดสำคัญประการหนึ่งในการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคือ ความคลุมเครือในการฉายภาพอนาคต ทำให้ไม่สามารถน้อมนำเอาความห่วงใยและความมุ่งหวังของภาคส่วนต่างๆ มาให้เป็นทางเลือกเชิงนโยบายที่มีองค์ประกอบย่อยๆ ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทุกฝ่ายจึงถกเถียงกันได้เพียงในระดับของจุดยืนและสิทธิของแต่ละฝ่าย ซึ่งมักจะแตกต่างและยากที่จะประสานเข้าด้วยกัน
นอกจากนั้น ความจำกัดในการฉายภาพอนาคตยังส่งผลต่อความจำกัดของวิธีการสื่อสารในกระบวนการตัดสินใจ เนื่องจากเรายังไม่สามารถในฉายภาพอนาคตร่วมกันได้ (หรือไม่สามารถ Visualization ได้) และเรายังไม่สามารถคิดคำนวณเพื่อเปรียบเทียบขนาดของความเปลี่ยนแปลงหรือความแตกต่างระหว่างทางเลือกหรือแนวคิดที่ต่างกันกันได้ (หรือไม่สามารถ Quantification ได้) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราไม่สามารถสร้างฉากต่างๆ (หรือที่เรียกว่า scenarios) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถถกแถลงแลกเปลี่ยนร่วมกันได้
ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกระบวนการนโยบายที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่ จึงถูกจำกัดอยู่ในระดับการแสดงจุดยืนด้วยการใช้คำพูดหรือภาษา (หรือ Verbal) เท่านั้น ซึ่งมักจะมีข้อจำกัดในการสื่อความ เพราะในหลายกรณีก็ไม่สามารถสื่อให้เห็นภาพ หรือขนาดความแตกต่างของผลกระทบให้เข้าใจตรงกันได้
ดังนั้น HIA2.0 จึงต้องก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปให้ได้ โดยทุ่มเทที่จะพัฒนาเครื่องมือที่จะสามารถนำเสนอภาพความเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบในมิติต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ และสามารถปรับเปลี่ยนหรือคิดคำนวณได้รวดเร็ว (หรือที่เรียกว่า interactive) เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม รวมถึงยังสามารถนำไปสู่การคิดหาทางเลือกใหม่ร่วมกันได้อีกด้วย
ที่ผ่านมา การพัฒนา HIA ในประเทศไทยได้กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเรื่องการจัดทำแผนที่ชุมชนขึ้นมาอย่างมากในหลายกรณี ดังตัวอย่างเช่น ในกรณีแผนที่ผลกระทบทางสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ในจังหวัดเลย หรือ การทำทางเลือกของการจัดการผังเมืองในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง เป็นต้น การจัดทำแผนที่ชุมชนถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากของการสร้างเครื่องมือแบบสื่อภาพอนาคตร่วมกัน

          นอกจากการทำแผนที่แล้ว การใช้เทคนิคภาพถ่ายและการตบแต่งภาพก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในเอื้อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างอาคารสูง ผลกระทบจากการสร้างท่าเรือหรือสิ่งก่อสร้างในทะเลหรือแหล่งน้ำ หรือผลกระทบจากการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เป็นต้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การทำ HIA ในประเทศไทยมีการนำเทคนิคด้านภาพถ่ายมาใช้ไม่มากนัก


ภาพที่ 2 ตัวอย่างการทำแผนที่ชุมชนโดยชุมชนบ้านนาดินดำ อ.เมือง จ.เลย

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

แต่เทคนิควิธีการที่ยังมีการใช้กันน้อยมากในประเทศไทยคือ การแสดงภาพอนาคต หรือฉากของอนาคต ด้วยแบบจำลองที่สามารถปรับเปลี่ยนภาพอนาคตร่วมกันได้ (หรือ interactive modeling) ตามข้อคิดเห็นหรือการทดลองของภาคส่วนต่างๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงขนาดของผลกระทบที่แตกต่างกันของแต่ละทางเลือก (หรือแต่ละข้อเสนอ) ทั้งทางบวกและทางลบ รวมถึงขนาดของผลกระทบที่เปลี่ยนไป ภายหลังจากการหารือและแสวงหาทางออก (หรือมาตรการใหม่ๆ) ร่วมกัน อันจะนำมาสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน และโอกาสในการแสวงหาข้อยุติสำหรับการตัดสินใจร่วมกันต่อไป
           ปัจจุบัน ในต่างประเทศมีการพัฒนาแบบจำลองที่สามารถปรับเปลี่ยนภาพอนาคตร่วมกันได้ มาใช้ในหลายกรณี ทั้งแบบจำลองการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ หรือแบบจำลองการสร้างเมือง แบบจำลองการสร้างระบบพลังงาน โดยมีทั้งเพื่อใช้ในการวางแผนจริง และการใช้เป็นเกมส์เพื่อการเรียนรู้ที่จำลองภาพความเป็นจริงในปัจจุบันและในอนาคต
          ความท้าทายของการพัฒนาแบบจำลองที่สามารถปรับเปลี่ยนภาพอนาคตร่วมกันได้คือ การสร้างระบบข้อมูลพื้นฐาน ข้อกำหนดของผลกระทบ และค่าสัมประสิทธิ์ของผลกระทบในด้านต่างๆ อันเป็นที่ยอมรับกัน จากนั้นจึงนำแบบจำลองมาพัฒนาเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถเอื้ออำนวยต่อการปรับเปลี่ยนทางเลือกหรือแนวนโยบายร่วมกันในอนาคตได้





ภาพที่ 3 ตัวอย่างแบบจำลองผลกระทบจากการพัฒนาพลังงานในรูปแบบต่างๆ
ที่มา: Energyville by Chevron



ในทางปฏิบัติ การพัฒนาแบบจำลองที่สามารถปรับเปลี่ยนภาพอนาคตร่วมกันได้อาจจำเป็นต้องพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปตามรายกรณี โดยพิจารณาจากความจำเป็นในการใช้ประโยชน์และความพร้อมของข้อมูลและค่าสัมประสิทธิ์ของผลกระทบอันเป็นที่ยอมรับร่วมกัน เช่น อาจเริ่มต้นจากแบบจำลองสำหรับการวางผังเมืองหรือวางผังอนุภาค หรือการจัดการขยะสำหรับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือการจัดการพลังงานสำหรับแต่ละภูมิภาค เป็นต้น



                  4. การเชื่อมโยงปัจจัยที่กำหนดสุขภาพให้ครบถ้วน
 ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการประยุกต์ใช้ HIA ในประเทศไทยคือ การเชื่อมโยงปัจจัยที่กำหนดสุขภาพเข้าสู่การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ และเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพมักถูกวิพากษ์ถึงความแม่นยำของข้อมูลและของการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพที่จะตามมา ทำให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพในประเทศไทยที่ผ่านมายังคงโน้มเอียงไปทางสิ่งแวดล้อมเชิงกายภาพและชีวภาพมากกว่า การประเมินผลกระทบทางสุขภาพอย่างรอบด้าน ทั้งในเชิงสุขภาพจิต ในเชิงสังคม และในเชิงปัญญาหรือจิตวิญญาณ
ความไม่สมดุลดังกล่าว นอกจากจะมีผลต่อความครบถ้วนสมบูรณ์ของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพแล้ว ยังมีผลในการลดทอนน้ำหนักความสำคัญของเสียงเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่หรือในแต่ละกรณี ซึ่งไม่สามารถแปลงผลกระทบอันเนื่องการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางสังคมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของตน มาเป็นข้อมูลหลักฐานหรือข้อมูลตัวเลขที่แน่ชัดได้ ผลกระทบดังกล่าวจึงถือเสมือนว่าตกไปจากการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือ แม้ว่าจะระบุไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ แต่ก็ไม่มีน้ำหนักมากนักในการตัดสินใจของภาครัฐ
ความท้าทายของ HIA2.0 จึงอยู่ที่การพัฒนาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางสังคมและทางจิตวิญญาณ ซึ่งยังคงมีข้อมูลที่จำกัดมาก อย่างไรก็ดี พัฒนาการล่าสุดในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการสำรวจระดับความสุขของคนไทย และการสำรวจมิติความก้าวหน้าของคนไทยในพื้นที่ต่างๆ โดยการดำเนินการร่วมกัน ระหว่างกรมสุขภาพจิต สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญในการพัฒนาฐานข้อมูลเบื้องต้น และเครื่องมือสำหรับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพควบคู่ไปกับเครื่องมือการฉายภาพแห่งอนาคตร่วมกัน
          ดังนั้น ในระยะต่อไป การประเมินผลกระทบทางสุขภาพจึงจะต้องให้ความสำคัญกับการนำเสนอผลกระทบทางสุขภาพจากความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางสังคม (รวมถึงปัจจัยทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น) โดยการพัฒนาทั้งฐานข้อมูลและเครื่องมือในการประเมินผลกระทบดังกล่าว เพื่อให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพมีความครบถ้วนรอบด้านมากยิ่งขึ้น
          ขณะเดียวกัน การประเมินผลกระทบสุขภาพก็ต้องเชื่อมโยงมิติผลกระทบทางสุขภาพเข้าสู่เป้าหมายภาพรวมของการพัฒนา ซึ่งจำเป็นจะต้องพัฒนาและถูกกำหนดขึ้นโดยประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยอาจแสดงออกมาเป็นรูปดัชนีหรือตัวชี้วัดของการพัฒนาใหม่ (เช่น กรณีความสุขมวลรวมประชาชาติของประเทศภูฏาน) การเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายภาพรวมของการพัฒนากับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจะช่วยเพิ่มน้ำหนักความสำคัญของผลกระทบทางสุขภาพ ของปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ และของกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในสังคมไปพร้อมๆ กัน
5. การพัฒนาฐานข้อมูลที่โปร่งใสและพร้อมใช้งาน
ความพยายามของ HIA2.0 ในการสร้างเครื่องมือการฉายภาพอนาคต และการเชื่อมโยงปัจจัยกำหนดสุขภาพจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลสนับสนุนที่ดี โดยเป็นฐานข้อมูลที่มีข้อมูลผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยในมิติต่างๆ และจัดอยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งาน (นั่นคือ สามารถสนับสนุนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพของแต่ละกรณีได้อย่างทันท่วงที) และเป็นฐานข้อมูลที่สามารถสร้างความยอมรับร่วมกันของผู้คนในสังคมได้มากขึ้น
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การประเมินผลกระทบทางสุขภาพแต่ละกรณี ผู้ศึกษามักจะต้องเริ่มต้นจากการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง โดยไม่มีระบบหรือไม่มีคลังในการเก็บและสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ในกรณีอื่นๆ ดังนั้น การประเมินผลกระทบทางสุขภาพในแต่ละกรณีจึงจำเป็นต้องใช้เวลามาก และมักจะต้องการผู้เชี่ยวชาญในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพมักมีความล่าช้าออกไป
การสร้างระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิผลจึงต้องเน้นถึงความพร้อมใช้งานในการสนับสนุนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในแต่ละกรณีอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ลดระยะเวลาและต้นทุนในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพลง ทั้งนี้ การที่จะดำเนินการเช่นนั้นได้ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลจำเป็นต้องมีการวางแผนถึงลักษณะของการใช้งานไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะออกแบบให้สามารถข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ได้โดยทันที ตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบผลกระทบของทางเลือกในการจัดการขยะในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เนื่องจากโจทย์ประการหนึ่งของการพัฒนาระบบ HIA2.0 คือ การแสวงหาการยอมรับร่วมกัน นั่นย่อมหมายความว่า ฐานข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการประเมินผลกระทบก็จำเป็นจะต้องได้รับการยอมรับด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ การเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลจึงจำเป็นต้องทำอย่างเปิดเผยและเป็นระบบ คือ สามารถรับฟังเสียงสะท้อนเกี่ยวกับคุณภาพของข้อมูลและฐานข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง และควรกระทำก่อนที่จะมีการนำฐานข้อมูลนั้นไปใช้ในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในแต่ละกรณี เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดการไม่ยอมรับในชุดข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน



ภาพที่ 4 ตัวอย่างการพัฒนาระบบฐานข้อมูลผลกระทบโดยวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ด้วยโปรแกรม Sima Pro


พัฒนาระบบฐานข้อมูลจึงอาจจำเป็นต้องเป็นไปในระบบเปิดหรือระบบอาสาสมัคร (คล้ายกับ wikipedia) เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอและปรับปรุงฐานข้อมูล รวมถึงอาจจัดสัมมนา หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการในแต่ละด้าน หรือแต่ละประเด็น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ในฐานข้อมูล ซึ่งนอกจากจะช่วยกลั่นกรองคุณภาพของข้อมูล ช่วยทำให้เกิดการยอมรับในตัวข้อมูล และยังช่วยส่งเสริมให้มีการนำฐานข้อมูลนี้ไปใช้ในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพด้วย
6. ความเป็นเจ้าของในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ
ปัญหาที่พบในระยะที่ผ่านมาคือ เมื่อการประเมินผลกระทบทางสุขภาพถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ก็มีผลให้ความเป็นเจ้าของในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพถูกถ่ายโอนจากภาคประชาชน ไปสู่ภาครัฐ (ในฐานะผู้อนุมัติโครงการ) เจ้าของโครงการ (ในฐานะผู้ว่าจ้างให้มีการประเมินผลกระทบ) และบริษัทที่ปรึกษา (ในฐานะผู้ทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ) ส่วนภาคประชาชนก็เป็นเพียงผู้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพเท่านั้น
ดังนั้น การพัฒนา HIA 2.0 จึงจำเป็นต้องออกแบบให้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ (ทั้งทางบวกและทางลบ) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้สมกับการเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม
การพัฒนาเครื่องมือและฐานข้อมูลต่างๆ จึงจะต้องระมัดระวังไม่ให้กลายเป็นการลดทอนความเป็นเจ้าของในกระบวนการHIA ของชุมชนลงมา กระบวนการ HIA2.0 จึงควรเริ่มต้นจากสิทธิพื้นฐานของชุมชนในการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และความมุ่งหวังในทิศทางการพัฒนาของชุมชนเป็นตัวตั้ง ส่วนเครื่องมือต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นกันได้สะดวกขึ้น (รวมถึงสามารถปรับเปลี่ยนทางเลือกต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย) มากกว่าที่จะใช้เป็นคำตอบสำเร็จรูปในกระบวนการตัดสินใจที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
เมื่อเป็นเช่นนี้ เครื่องมือการประเมินผลกระทบทางสุขภาพที่เป็นกระบวนการของภาคประชาชนเอง เช่น การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน ก็ควรได้รับยกระดับอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน โดยควรมุ่งเน้นความเชื่อมโยงเป็นองค์รวม และความเป็นระบบในการเก็บรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล ไปพร้อมๆกันกับการเพิ่มพูนความสามารถในการสื่อความหมาย เพื่อให้เห็นถึงภาพอนาคตที่ชุมชนหรือประชาชนมุ่งหวัง (หรือห่วงใย) และสามารถแลกเปลี่ยนทิศทางความมุ่งหวัง (หรือความห่วงใย) ดังกล่าว ได้ทัดเทียมกับภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม
การสร้างระบบในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีต่างๆ ในการ HIA2.0 เช่น การทำงานระหว่างผู้จัดทำฐานข้อมูล ผู้พัฒนาเครื่องมือการฉายภาพอนาคต ภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ภาคส่วนอื่นๆ และหน่วยงานที่ตัดสินใจ จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย เพราะเป็นความท้าทายในระดับวัฒนธรรมที่จะสร้างกระบวนการประเมินผลกระทบและกระบวนการตัดสินใจที่หลายฝ่ายเป็นเจ้าของร่วมกัน แทนที่กระบวนการตัดสินใจที่มีภาครัฐเป็นจุดศูนย์กลางหลักเช่นที่ผ่านมา



สรุป HIA2.0
          การก้าวไปสู่ HIA2.0 จึงเป็นการก้าวย่างหรือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ไม่ว่าจะในเชิงกระบวนทัศน์ ในเชิงกระบวนการ และในเชิงวิธีการหรือเครื่องมือ
ในเชิงกระบวนทัศน์ HIA2.0 จะต้องเปลี่ยนจากกระบวนการตัดสินใจที่มีรัฐเป็นศูนย์กลาง เปลี่ยนเป็นกระบวนการตัดสินใจที่มีสังคมเป็นศูนย์กลาง โดยจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจตั้งแต่ต้นน้ำของการพัฒนา หรือตั้งแต่การวางแผนยุทธศาสตร์ในภาพรวม ในรายสาขา หรือในแต่ละพื้นที่ และปรับกระบวนการและเครื่องมือให้สนับสนุนการถกแถลง และเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในกระบวนการตัดสินใจ
ในเชิงกระบวนการ นอกจากจะต้องประยุกต์ใช้ HIA2.0 ในต้นน้ำของการพัฒนามากขึ้น ยังต้องนำเสนอทางเลือกในการพัฒนาอย่างชัดเจน และจะต้องทำให้ HIA เป็นกระบวนการที่ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สามารถเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของกระบวนการดังกล่าวได้อย่างมีความหมาย ด้วยกระบวนการที่แบ่งงานและประสานงานกัน ทั้งตั้งแต่ก่อนการทำ HIA (เช่น การจัดทำระบบฐานข้อมูลและเครื่องมือต่างๆ) และหลังการทำ HIA (เช่น การสื่อสารสู่สังคม และการผลักดันการตัดสินใจที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ)
ในเชิงเครื่องมือ HIA2.0 ต้องสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ด้วยการพัฒนาเครื่องมือที่จะใช้ร่วมกันในการฉายภาพอนาคต (ซึ่งจำเป็นมากสำหรับการวางแผนและการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ในต้นน้ำของการพัฒนา) และการเชื่อมโยงปัจจัยกำหนดสุขภาพให้ครบถ้วนและเชื่อมโยงกับเป้าหมายโดยรวมของการพัฒนา โดยมีความมุ่งหวังในการพัฒนาของประชาชนในแต่ละพื้นที่เป็นศูนย์กลาง รวมถึงต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่สามารถเรียกใช้งานได้สะดวก และเป็นที่ยอมรับเพื่อสนับสนุนให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพสามารถมาประยุกต์ใช้ได้อย่างทันการณ์
แท้จริงแล้ว การพัฒนารายประการใน HIA2.0 ได้เริ่มขึ้นแล้วในปัจจุบัน ด้วยการดำเนินการขององค์กรต่างๆ รวมถึงกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้น HIA2.0 จึงมิใช่เรื่องใหม่ถอดด้าม หากแต่เป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดและจุดเน้นของการใช้ HIA ในประเทศไทย เพื่อให้การใช้ HIA ในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมนั้นมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการและเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้ HIA สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้แต่ละฝ่ายได้แลกเปลี่ยนแนวคิด ทางเลือก ความมุ่งหวัง และความห่วงใยของตนได้ดียิ่งขึ้น
HIA2.0 จะปรากฏเป็นจริงได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาเครื่องมือ ฐานข้อมูล กระบวนการ และกระบวนทัศน์เหล่านี้ขึ้นมา ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งของการพัฒนาในสังคมไทยมีแนวโน้มที่จะเขม็งเกลียวมากขึ้นทุกขณะ
ความมุ่งหวังสูงสุดของ HIA2.0 คือ การเป็นกระบวนการที่สามารถช่วยให้ภาคส่วนต่างๆของสังคมค้นหาและพัฒนาคำตอบที่ดีต่อสุขภาพ และดีต่อการพัฒนาในมิติอื่นๆ รวมถึงเป็นที่ยอมรับ และเป็นแนวทางประสานพลังของภาคส่วนต่างๆของสังคมอย่างแท้จริง  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น