วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ง่าย งาม งอกเงย กับคนตัวเล็กๆ ที่บางมูลนาก




ง่ายๆ เพียงคิด แล้วลงมือ
กล่องต้มอาหารจากเศษฟิวเจอร์บอร์ด
จากกิจกรรมเล็กๆ ในชั่วโมงเรียนของเด็กๆ โรงเรียนเทศบาล ๑ บางมูลนาก สถานศึกษาระดับประถม ขนาดกะทัดรัด 156 คน แห่งอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ที่ได้ปลูกฝังนักเรียนตัวน้อย ให้รู้ค่าของ “ขยะ” ของที่ใครๆ ก็เบือนหน้าหนี ให้กลายมาเป็นของมีค่า จนเด็กๆ อดใจไม่ได้ที่จะต้องนำขยะติดไม้ติดมือจากบ้าน มาโรงเรียนด้วย เพื่อแปลงเป็นเงินฝากของตัวเองใน “ธนาคารขยะ”
จุดเริ่มต้นแบบเล็กๆ เช่นนี้ นอกจากจะทำให้นักเรียนสามารถมีเงินออมของตนเองแล้ว ยังนำไปสู่กิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายที่มาจากการแปลงร่าง “เศษขยะ”  แบบง่ายๆ แต่ใช้งานได้ดี ยกตัวอย่างเช่น กล่องหุงต้มอาหารพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีดีกรีถึงแชมป์นวัตกรรมพลังงานเยาวชนระดับภาคเหนือ ด้วยราคาต้นทุนไม่ถึง 100 บาท  


นวัตกรรมจากเศษเหลือทิ้ง
อ.วรันธร บุญก๊อก ผู้ริเร่มโครงการ
การเริ่มต้นกิจกรรมธนาคารขยะ มาจนถึงกิจกรรมด้านพลังงานของโรงเรียน งานนี้ได้ศิษย์เก่ารุ่นแรกๆ อย่างอาจารย์ วรันธร บุญก๊อก ผู้ซึ่งมีโอกาสได้ร่ำเรียนวิชาจากวิทยาลัยพลังงานทดแทน จ.พิษณุโลก บวกด้วยความมุ่งมั่น และมุ่งหวังให้ยากให้เด็กๆ ได้มีโอกาสในการเรียนรู้นอกเหนือจากตำราเรียน และมีประสบการณ์ชีวิตหลากหลายด้าน จึงตั้งใจสอน และริเริ่มกิจกรรมเกี่ยวกับพลังงาน และการเกษตร
จนบัดนี้มีเทคโนโลยีพลังงานที่หลากหลายรูปแบบ พร้อมตอบโจทย์ของการทำเกษตร โดยร่วมมือกับครูและเด็กนักเรียน ที่พร้อมอวดโฉม และชวนให้ร่วมเรียนรู้ ในนามของศูนย์การเรียนรู้และเผยแพร่พลังงานทางเลือก ขอเตือนไว้ก่อนว่าหากมีเวลาไปเยี่ยมที่นี่ไม่ถึงครึ่งวัน ควรหาวันว่างไปใหม่ เพราะแต่ละฐานกิจกรรมมีเรื่องเล่าและการสาธิตที่น่าเรียนรู้มากมายไม่ต่ำกว่า 10 ฐาน
เริ่มต้นจากการทำถ่านอัดแท่งกันก่อน เนื่องจากในพื้นที่ตำบลบางมูลนากมีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลายอย่าง เช่น แกลบดำ ซังข้าวโพด กากอ้อย โดยรวบรวมจากครัวเรือนของนักเรียน คนในชุมชน และโรงสีต่างๆ โดยรับซื้อผ่านธนาคารขยะของโรงเรียน สำหรับใครที่ต้องการถ่านคุณภาพดีให้ความร้อนสูง อยู่ได้นาน ต้องมาลองนวดส่วนผสมถ่านพร้อมกับเด็กๆ พร้อมกับอัดให้เป็นแท่ง ตากให้แห้ง เท่านี้ก็ถือกลับบ้านได้สบาย แต่เยาวชนไทยไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะเด็กๆ กำลังคิดหาสูตรของถ่านอัดแท่งชนิดไล่ยุง ทีนี้จะปิ้งย่างอะไรที่ไหน ยุงร้ายก็ไม่มากวน (อาจจะตีตลาดยากันยุงได้) ส่วนตัวเครื่องอัดถ่านตอนนี้ก็ยังทำยอดขายได้อีกในราคาชุดละ 100 บาท
ถัดมาจะขอบอกว่าน้ำร้อนที่นำมาผสมถ่านอัดแท่ง มาจากเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ตั้งรอรับแสงแดดอยู่ น้ำที่ได้อุณหภูมิประมาณ 70 องศา ร้อนพอทำให้ไข่สุกได้สบายๆ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีอีกหลายนวัตกรรม ได้แก่ เครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบอบสมุนไพร และแบบอบกล้วย ที่เห็นกับตาว่าเด็กๆ ยืนกลืนน้ำลายอยู่ข้างเครื่องอบกล้วย พร้อมกับบอกว่า “มันอร่อยมาก” แต่ที่การันตีได้ว่าอร่อยจริงคือ ตากยังไงก็ไม่พอขายซะที เพราะโดนกินไปหมดซะก่อน 
ถึงตาของเตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูงกันบ้าง เตานี้สามารถผลิตถ่านที่มีประสิทธิภาพสูง ไร้ควัน ติดทนนาน ไฟแรง จนมีคนมาขอซื้ออย่างเป็นประจำ ที่สำคัญน้ำส้มควันไม้ที่ได้ ก็นำไปเป็นสารไล่แมลงในแปลงเกษตรได้เป็นอย่างดี
มาถึงระบบก๊าซชีวภาพขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่เริ่มเติมมูลสัตว์จนแก๊สเริ่มขึ้นแล้ว และพร้อมที่จะให้แม่ครัวของโรงเรียนนำเศษอาหารมาเติม แล้วนำแก๊สไปใช้ทำอาหารได้ต่อ งานนี้เราได้นวัตกรรมใหม่ ในการออกแบบตัวครอบถังเก็บก๊าซที่ช่วยประคองถังมิให้หลุดตก และมีความยืดหยุ่น ยกขึ้นพร้อมกับการลอยตัวของถังได้อัตโนมัติ
นอกจากนี้ยังมีจักรยานสูบน้ำ พลังนักเรียน ที่สูบน้ำจากบ่อเลี้ยงปลา มารดสวนผักริมคลอง งานนี้สารวัตรนักเรียนคนเก่งคงได้ผอมก่อนเรียนจบเป็นแน่
กิจกรรมบ่มเพาะประสบการณ์ของนักเรียนและผู้ปกครอง ยังมีอีกหลายอย่างที่ไม่ได้กล่าว เช่น การเพาะเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา ซึ่งสามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ ดูทั้งหมดแล้วคาดว่าจะมีอีกหลายกิจกรรมที่ต่อยอดโดยอาศัยหลักการของความง่าย ให้ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง


งดงาม เบิกบานใจ
จุดสาธิตกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนสร้างประโยชน์ให้แก่นักเรียน รวมถึงคนในชุมชนให้เข้ามาร่วมเรียนรู้ โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ นอกจากคุณครูหลายๆ ท่าน งานนี้ “ตาเหน่ง” ที่เด็กๆ เรียก หรือ คุณสุรศักดิ์ สิงห์มี ช่างรับจ้างทั่วไป ที่เริ่มมารับจ้างทำเตาเผาถ่าน ทำเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เรื่อยมาจนครบเกือบทุกเทคโนโลยีที่มีอยู่ ล้วนเป็นผลมาจากฝีมือและการให้คำปรึกษาของช่างเหน่ง ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็น “ช่างใหญ่” ประจำศูนย์เรียนรู้ฯ และด้วยเห็นถึงประโยชน์ของการใช้พลังงานหมุนเวียนรอบตัว จึงเกิดความชอบและอยากเรียนรู้เพิ่มเติม ช่างเหน่งจึงชวนภรรยาหรือ คุณสายฝน และลูกมาร่วมกิจกรรมด้วย ตอนนี้คุณสายฝนกลายเป็นวิทยากรที่มีทั้งฝีมือ และถ่ายทอดได้เป็นเยี่ยม

เด็กๆ เองก็เช่นกัน แม้แต่ละชั้นเรียนจะมีนักเรียนจำนวนน้อย เช่น พี่ป. 6 มีทั้งหมด 17 คน ต่างผลัดกันมาเป็นแกนนำในการทำกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ฯ แถมยังต้องทำกิจกรรมอีกเกือบทุกอย่างของโรงเรียน ทั้งนาฏศิลป์ กีฬา แข่งทักษะ แต่ก็ยังมีน้ำใจที่งดงาม มาเข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมของศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อให้คุณพ่อ คุณแม่ได้รับโอกาสเรียนรู้แบบลูกๆ บ้าง เช่นเดียวกันกับวันที่พวกเราไปเยี่ยม น้องๆ ก็เสียสละเวลามาเป็นวิทยากรตัวน้อยอธิบายหลักการ และประโยชน์ของแต่จะจุดสาธิตให้ฟัง จนครบทุกจุด ทำเอาทั้งเราทั้งน้องได้ทวนความรู้กันจนเต็มอิ่ม ประมาณว่าถ้ารีบไปทำข้อสอบคงได้เต็มกันแน่ๆ
"ช่างเหน่ง ลุงสุเทพ และพี่สายฝน(จากซ้ายไปขวา) จากผู้ปกครองมาเป็นวิทยากร"

ส่วนหนึ่งของผลงานที่น่าประทับใจของเด็กๆ คือ สามารถชวนพ่อ แม่ ญาติ มาร่วมกิจกรรมได้ จนบางรายขอมาร่วมเรียนรู้จนกลายเป็นวิทยากรประจำศูนย์ อย่างคุณลุงสุเทพ  จันทร์นิธิ เจ้าของร้านลูกชิ้นปิ้งรายใหญ่หน้าโรงเรียน ที่เกิดติดใจถ่านจากเตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูง คุณลุงบอกว่า “เป็นถ่านที่ไร้ควัน ติดทนนาน แต่ไฟแรงมาก แรงจนทำให้ลูกชิ้นไหม้ ระยะหลังเลยมาซื้อเศษถ่านไปใช้แทน ก็ยังใช้ได้ดี ที่สำคัญ ดีต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการสนับสนุนกิจกรรมดีๆ สำหรับเด็กๆ ด้วย”
สำหรับผู้ที่มีอุปการะคุณอีกท่าน คือคุณป้าพิกุล  โรจน์วิชัย เจ้าของที่ดินบริเวณศูนย์การเรียนรู้ฯ แต่ดั้งเดิม ปัจจุบัน คุณป้ามาร่วมกิจกรรมของศูนย์เสมอ ทั้งยังเป็นร่วมเป็นวิทยากร ช่วยดูแลสถานที่ คุณป้าบอกว่า “รู้สึกมีความสุขที่ได้ทำประโยชน์ให้เด็กๆ และสังคม”
การมาเยี่ยมเยือนศูนย์การเรียนรู้และเผยแพร่พลังงานทางเลือก ที่โรงเรียนเทศบาล ๑ บางมูลนากในครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่เห็นตลอดการพูดคุยคือ รอยยิ้ม ของคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคุณครู เด็กนักเรียน และผู้ใหญ่ใจดีที่เห็นคุณค่าของศูนย์แห่งนี้ ทราบได้แน่นอนว่าเป็นรอยยิ้มที่เกิดจากการร่วมประสบการณ์ดีๆ ที่ทุกคนสร้างร่วมกัน หรือจะเรียกว่าเป็นศูนย์รวมใจของทุกฝ่ายเลยก็ว่าได้

"ป้าพิกุล ผู้เอื้อเฟื้อที่ดินให้เด็กๆ ได้มีศูนย์เรียนรู้ฯ" 

การมาเยี่ยมเยือนศูนย์การเรียนรู้และเผยแพร่พลังงานทางเลือก ที่โรงเรียนเทศบาล ๑ บางมูลนากในครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่เห็นตลอดการพูดคุยคือ รอยยิ้ม ของคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคุณครู เด็กนักเรียน และผู้ใหญ่ใจดีที่เห็นคุณค่าของศูนย์แห่งนี้ ทราบได้แน่นอนว่าเป็นรอยยิ้มที่เกิดจากการร่วมประสบการณ์ดีๆ ที่ทุกคนสร้างร่วมกัน หรือจะเรียกว่าเป็นศูนย์รวมใจของทุกฝ่ายเลยก็ว่าได้

งอกเงย กระจายผล
การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และเผยแพร่พลังงานทางเลือกที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง จนขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วม และร่วมสนับสนุน ได้แก่ เทศบาลตำบลบางมูลนากที่กำลังนำเรื่องศูนย์เรียนรู้พลังงานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการทำแผนเทศบัญญัติ  ทางด้านวิชาการวิทยาลัยพลังงานทดแทน ม.นเรศวร ได้เชิญให้เป็นศูนย์การเรียนรู้พลังงานชุมชน โดยร่วมกับโรงเรียน และสำนักงานพลังงานจ.พิจิตร
ปัจจุบันศูนย์ฯพร้อมให้ความรู้ และเปิดอบรมให้แก่ผู้สนใจ โดยเริ่มมีผู้ปกครองมาร่วมอบรม และมาร่วมกิจกรรมหลังจากฝึกอบรมหลายราย ทั้งหลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรเป็นฝึกปฏิบัติ และกำลังเนื้อหอมมีสื่อมาขอสัมภาษณ์หลายแห่งเช่นกัน
ความท้าทายสำคัญของศูนย์ฯ และทีมงานต่อไปก็คือ ระบบการจัดการบริหารศูนย์ฯ ให้ดำเนินการได้เองอย่างต่อเนื่อง เพราะแน่นอนว่ากิจกรรมของศูนย์ฯ ต้องมีการขยายตัวเพิ่ม อาจต้องรองรับผู้สนใจมากขึ้น หรือในแง่ของการบริหารทุน จะมีรูปแบบในการลงทุนของศูนย์อย่างไร เพราะขณะนี้เริ่มมีกระแสรายรับทยอยเข้ามาบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นตัวอย่างของพลังเล็กๆ ของคนเล็กๆ ที่นำของใกล้ตัว แม้กระทั่งของเหลือใช้ มาประดิษฐ์แบบง่าย แต่เกิดพลังที่งดงามแก่ผู้ที่ได้ร่วมทำ และผลจากกิจกรรมที่สร้างสรรค์เหล่านี้ จึงเกิดการงอกเงยไปสู่ความร่วมมือของเครือข่ายต่างๆ ซึ่งน่าจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน และสังคมได้ด้านอื่นๆ ได้อีกอย่างต่อเนื่อง                
ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ...


ขอขอบพระคุณคณะอาจารย์โรงเรียนเทศบาล ๑ บางมูลนาก ที่นำพากิจกรรมดีๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้น

ขอบพระคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มอบโอกาสในการทำกิจกรรมดีๆ จนเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ ขึ้นได้
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์วรันธร  บุญก๊อก โรงเรียนเทศบาล ๑ บางมูลนาก
อีเมล์ warunthorn_b@hotmail.com








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น